ตามรอยพ่อหลวง ครั้งเสด็จฯ เยือน สหภาพพม่า (Union of Burma)




ทั้งสองพระองค์ทรงรับการถวายความเคารพก่อนเสด็จขึ้นเครื่องบินพระที่นั่ง

ตามบทเรียนประวัติศาสตร์ที่เคยได้ร่ำเรียนกันมาทุกคนคงคุ้นชินกับเหตุการณ์เรื่องเล่าในตำราที่ได้มีการบันทึกถึงการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่า แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไประหว่างประเทศไทยกับพม่านั้นไม่ได้จบลงด้วยการเป็นศัตรู แต่กลับกลายเป็นมิตรภาพซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่เสด็จฯเยือนพม่า ในฐานะราชอาคันตุกะในลักษณะมิตรไมตรีต่อกัน ในปี พ.ศ. 2414 จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯเยือนพม่าเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยเสด็จตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ อู วิน หม่อง ประธานาธิบดีของพม่า ระหว่างวันที่ 2 - 5 มีนาคม 2503 โดยเสด็จฯไปพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นับเป็นการเยือนต่างประเทศเป็นประเทศที่ 3 ตั้งแต่เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ การเดินทางครั้งนี้เสด็จฯโดยเครื่องบินพระที่นั่ง เมื่อเสด็จฯถึงสนามบินหมิ่งกะหล่าโดง กรุงย่างกุ้ง พระองค์ทอดพระเนตรเห็นว่าสนามบินของทีนี่มีความสะอาดเรียบร้อย สวยงาม และทันสมัยมาก จึงมีพระราชดำรัสเป็นแนวทางในการปรับใช้กับประเทศไทย ดังที่ผู้ติดตามได้บันทึกไว้ความว่า “…ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องของสนามบินเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการอวดชาวต่างประเทศอยู่มาก เพราะเป็นประตูแรกที่จะรับรองชาวต่างชาติเขา ฉะนั้นการที่สนามบินดอนเมืองของเราได้รับการปรับปรุงทันสมัยและรักษาความสะอาดไว้ได้จนทุกวันนี้จึงเป็นสิ่งที่พวกเราควรจะภูมิใจ และช่วยกันรักษาไว้ให้ดี เพื่อช่วยชูเกียรติของประเทศอย่างหนึ่ง...”


 

ซุ้มรับเสด็จที่มีคำถวายพระพรทั้งภาษาไทยและพม่า

และเมื่อเครื่องบินจอดเทียบ ทันทีที่ได้เสด็จปรากฏพระองค์ที่ประตูของเครื่องบิน ก็มีปืนใหญ่ยิงสลุตถวายคำนับ 21 นัด เมื่อเสด็จฯถึง ณ ที่บริเวณปะรำพิธี ทั้งสองพระองค์ขึ้นสู่แท่นถวายความเคารพ พร้อมด้วยประธานาธิบดี อู วิน หม่อง และมาดาม วิน หม่อง กราบบังคมทูลเสด็จเป็นภาษาอังกฤษ และแน่นอนว่าพระองค์ได้ตรัสกลับเป็นภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน ในการเสด็จฯในครั้งนั้นได้รับการต้อนรับอย่างดี ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งยังไม่เคยมีแขกบ้านแขกเมืองใดได้รับเกียรติได้เท่าพระองค์ หนังสือพิมพ์รายวันของพม่าต่างนำเสนอเรื่องราวการเสด็จฯมาเยือนของพระองค์ในครั้งนี้ ทั้งพระราชประวัติโดยย่อ บทความต้อนรับ และแสดงความชื่นชมยินดีในการเสด็จฯ แม้กระทั่งการกล่าวสดุดีว่าทรงมีพระราชอิริยาบถที่งดงามบ้าง และทรงเป็นผู้ชนะใจชาวพม่าบ้าง พร้อมทั้งนำเสนอพระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ลงในหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งอีกด้วย เช่นในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) ได้กล่าวในบทบรรณาธิการเกี่ยวกับการเสด็จฯมาเยือนในครั้งนี้ ซึ่งทีมข่าวขอยกมาเป็นตัวอย่างบางตอน ความว่า “...ทรงมาเยือนพม่าด้วยไมตรีจิตอันผุดผ่อง พระองค์ทรงเยือนประเทศนี้ไม่ใช่เป็นเพราะอิทธิพลของกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง และมิได้เป็นการเยือนเกี่ยวกับกรณีพิพาทอย่างหนึ่งอย่างใด สาระสำคัญที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯมา ได้แก่ การปลูกฝังมิตรภาพ และความเข้าใจอันดีต่อกัน...”


 

ประธานาธิบดี อู วิน หม่อง ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่ประธานาธิบดี อู วิน หม่อง

หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯไปยังทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ซึ่งทางฝ่ายรัฐบาลพม่าได้จัดไว้เป็นที่ประทับ และเสด็จฯไปยังห้องรับแขกเพื่อให้ประธานาธิบดี อู วิน หม่อง ได้เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของพม่าที่ชื่อว่า “อัครมหาสิริสุธรรมา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านก็ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าเป็นการตอบแทน ในการนี้ทางฝ่ายนายกรัฐมนตรี อู นุ ของพม่า ได้ขอพระราชทานวโรกาสถวายพระกระยาหารกลางวัน ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้รับสั่งเพื่อเตรียมการผ่านกระทรวงต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่าย ความว่า “...เรื่องพระกระยาหาร เสวยได้ทุกอย่าง ขอให้จัดของง่าย ๆ ถวาย ไม่ต้องมีอะไรพิเศษมาก...” ในวันแรกที่เสด็จฯไปถึงยังประเทศพม่านั้น ได้เสด็จฯเพื่อรับคำกราบบังคมทูลรับเสด็จจากนายกรัฐมนตรี ณ ศาลาเทศบาลเมืองย่างกุ้ง ในเวลาบ่าย 3 โมงครึ่ง ระหว่างทางมีชาวพม่ามารอรับเสด็จอย่างเนืองแน่น มีการโปรยข้าวตอกดอกไม้เพื่ออวยพรตลอดเส้นทางการเสด็จฯ เมื่อรถยนต์พระที่นั่งมาถึง ณ ศาลาเทศบาลเมืองย่างกุ้ง ก็มีการประโคมกลองชนะ ตามประเพณีรับเสด็จ หลังจากนั้นเสด็จฯไปทรงวางพวงมาลา ที่สุสานอาซานี หรือสุสานวีรชน ที่บรรจุศพวีรชนของชาติซึ่งเสียชีวิตเมื่อครั้งพม่าได้รับเอกราชใหม่ ๆ อาทิ อู อองซาน บิดาของนางออง ซาน ซูจี



ทรงถอดฉลองพระบาทถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระมหาเจดีย์ชเวดากอง

วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 3 มีนาคม 2503 ทั้งสองพระองค์ฉลองพระองค์ตามแบบราชประเพณีไทยเพื่อเสด็จฯไปยังมหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งการที่ฉลองพระองค์เช่นนี้สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนธรรมเนียมของพม่าในการถอดรองเท้าทั้งชาวพื้นเมืองและชาวต่างชาติก่อนเข้าสู่เขตพุทธสถาน แต่ในการนี้ทางฝ่ายพม่าก็ไม่ได้กะเกณฑ์ให้ทั้งสองพระองค์ต้องถอดฉลองพระบาทแต่อย่างใด แต่เป็นพระราชประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นถึงพระราชไมตรีอันดีแก่ชาวพม่า


 

ฉลองพระองค์ชุดไทยตามแบบพระราชประเพณีไทย

 

ทรงถวายพุ่มดอกไม้เงิน พุ่มดอกไม้ดอก

เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จฯถึงลานพระเจดีย์ ได้มีประชาชนมารอรับเสด็จและถวายดอกกล้วยไม้พื้นเมืองแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จากนั้นทั้งสองพระองค์ได้ทรงถวายกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพ พุ่มดอกไม้เงินและพุ่มดอกไม้ทอง เพื่อสักการบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ในการนี้ก่อนเสด็จฯกลับ ทั้งสองพระองค์ได้ทรงปลูกต้นโพธิ์ 2 ต้นที่นำไปจากประเทศไทย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งสัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับพม่า จากนั้นเสด็จฯโดยทางชลมารค ประทับเรือพระที่นั่งเมขลา เพื่อชมทัศนียภาพของแม่น้ำอิรวดี ประธานาธิบดีพม่าได้จัดการแสดงรำพื้นเมืองเพื่อถวาย พระองค์ทอดพระเนตร คลายความเกร็ง และเชื้อเชิญให้ฝั่งไทยได้ทรงทำการแสดงให้ชมบ้าง ทำให้บรรยากาศในวันนั้นครึกครื้น เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ก่อนจะเสด็จฯไปทรงเทนนิสร่วมกับประธานาธิบดีพม่า


 

ประธานาธิบดีอู วิน หม่อง ถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ

รุ่งขึ้นวันที่ 4 มีนาคม 2503 ได้เสด็จไปทอดพระเนตร โรงงานเภสัชกรรมของพม่าซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในเอเชีย ณ ขณะนั้น พระองค์ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเวลา 20.00 น. ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ แก่ ประธานาธิบดี และภรรยา รวมถึงนายกรัฐมนตรีด้วย บรรยากาศในงาน บรรเลงไปด้วยเพลงพระราชนิพนธ์ และมีการจัดการฟ้อนเล็บแบบประเพณีไทยให้แขกในงานร่วมชม นับเป็นที่ติดตาตรึงใจในความอ่อนช้อยงดงามของท่วงท่าการรำ ถึงกับมีคำกล่าวว่า ท่วงท่าการรำของสตรีไทยกับนัยน์ตาอันชมดชม้อยของผู้รำแทบจะต้องทำให้สตรีผู้นั้นเอามือปิดตาสามีไม่ให้ดู เพื่อเพิ่มความสนิทสนม สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้พระราชทานของที่ระลึกเป็นเล็บฟ้อนทองคำ แก่ มาดามวิน หม่อง บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความครื้นเครงเป็นกันเอง ข้าราชการฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าร่วมรำวงอย่างสนุกสนาน ทูตานุทูตจากต่างประเทศที่มาร่วมงานถึงกับเอ่ยปากว่า ไม่เคยพบเห็นนายกรัฐมนตรีของพม่า สนุกสนานมากเพียงนี้ จากนั้นจึงเสด็จฯกลับในวันรุ่งขึ้น แม้การเสด็จฯมาเยือนครั้งนี้จะเป็นเพียงเวลาแค่ 4 วันแต่ก็นับเป็นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ครั้งแรกของไทยกับพม่า เพราะนับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยได้เสด็จฯเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ สร้างความประทับใจและความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ทั้งสองพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงก็เสด็จฯเยือนพม่าอีกหลายครั้ง เพื่อเพิ่มพูนความสัมพันธ์ยิ่งขึ้นไป ดังพระราชดำรัสที่ว่า “...ยึดมั่นในสัจจะแห่งพุทธศาสนาอย่างเดียวกัน รวมทั้งการยึดมั่นในสันติภาพและความร่วมมือต่อกัน... ถือเป็นการกระชับเกลียวสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศไว้ทั้งด้านวัฒนธรรม ศาสนา และความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกัน อันจะนำไปสู่ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป..." นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จฯเยือนต่างประเทศของทั้งสองพระองค์ เพื่อกระชับสัมพันธไมตรี การเสด็จฯไปในแต่ละครั้ง ไม่เพียงแค่ผู้นำประเทศจะประทับใจในพระราชจริยวัตรของพระองค์เท่านั้น แต่รวมไปถึงพสกนิกรชาวมิตรประเทศด้วยที่ต่างชื่นชมและแซ่ซ้องสรรเสริญทั่วทั้งแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น