56 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน



56 กลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน



1. กลุ่มชาติพันธุ์ฮั่น ชาวฮั่นสืบเชื้อสายมาจากชาวหัวเซี่ยในแถบลุ่มน้ำฮวงโมีหลักฐานว่าชาวฮั่นถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยหวงตี้ อาศัยอยู่ในแถบดินแดนจงหยวน และกระจายอยู่ทั่วประเทศจีนมายาวนานกว่า 5,000 ปี นับตั้งแต่สมัยเซี่ย ซาง โจว ชุนชิว-จ้านกั๋ว จนมาเริ่มเป็นปึกแผ่นในสมัยฉินและฮั่น สมัยฮั่นนี่เองที่เริ่มมีคำเรียก ฮั่น ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความเชื่อตามแบบลัทธิเต๋า ชาวฮั่นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีประชากร 1,230,117,207 คน ในจีนและในไต้หวัน ชาวฮั่นถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของหลายประเทศ ประกอบด้วย 92% ของประชากรจีน 98% ของประชากรไต้หวัน 72% ของประชากรสิงคโปร์ และ 20% ของประชากรโลก นอกจากนี้ยังมีชาวฮั่นอีกหลายสิบล้านคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในอีกหลายประเทศทั่วโลก 



2. กลุ่มชาติพันธุ์จ้วง ชาวจ้วงวิวัฒนาการมาจากชาวเยว่ในสมัยโบราณ ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่หลิ่งหนาน มีชื่อในบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า ซีหว่า และลั่วเยว่ ซึ่งเป็นชนกลุ่มย่อยในกลุ่มชนร้อยเผ่าไป่เยว่ กลุ่มชน 2 กลุ่มนี้ วิวัฒนาการมาเป็นชาวจ้วงในปัจจุบัน ปัจจุบันนี้ชาวจ้วงมีถิ่นฐานอยู่ที่เขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงมณฑลกว่างซี เขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงและเผ่าแม้วมณฑลยูนนาน และมีส่วนน้อยกระจายอยู่ที่ในบริเวณต่าง ๆ ของมณฑลกว่างตง หูหนาน กุ้ยโจว และเสฉวน คำเรียกชื่อชาวจ้วงเป็นคำที่ชนกลุ่มนี้ใช้เรียกตนเองว่า ปู้จ้วง นอกจากนี้ชาวจ้วงมีคำเรียกตัวเองอีกมากมายแตกต่างกันตามถิ่นที่อยู่ เช่น ปู้หนง ปู้ถู่ ปู้ย่าง ปู้ปาน ปู้เยว่ ปู้น่า หนงอาน ปู้เพียน ถูหล่าว เกาหลาน ปู้ม่าน ปู้ต้าย ปู้หมิ่น ปู้หลง ปู้ตง เป็นต้น หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนรวมเรียกชื่อชนเผ่านี้ว่า ถง ในปี ค.ศ.1965 โจวเอินหลาย เสนอให้รัฐบาลจีนเปลี่ยนชื่อเรียกชนกลุ่มนี้เป็น จ้วง ชาวจ้วงเป็นชนกลุ่มน้อยในจีนที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด ปัจจุบันมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 16,178,811 คน พูดภาษาจ้วง จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาจ้วง-ไต ในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้มีการใช้ภาษาเขียนที่เป็นอักษรจีนแบบเหลี่ยม แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย ในปี ค.ศ.1955 รัฐบาลจีนพัฒนาระบบการเขียนอักษรภาษาจ้วงโดยใช้อักษโรมัน และใช้อย่างแพร่หลายมาจนปัจจุบัน



3. กลุ่มชาติพันธุ์หม่าน ชาวหม่านหรือที่รู้จักกันในชื่อ ชาวแมนจู ถือเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่ในอดีต เคยมีอาณาจักรต้าจินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และเคยรุ่งเรืองเป็นราชวงศ์หนึ่งของจีนคือ ราชวงศ์ชิง บริเวณที่มีชาวหม่านอาศัยอยู่มากได้แก่ มณฑลเหลียวหนิง และกระจายอยู่ในมณฑลต่าง ๆ เช่น จีหลิน เฮยหลงเจียง เหอเป่ย มองโกเลียใน ซินเจียง กานซู่ ซานตง เป็นต้น ตามเมืองต่าง ๆ เช่น ปักกิ่ง เทียนจิน เฉิงตู ซีอาน กว่างโจว และอิ๋นชวน ก็มีชาวหม่านอาศัยอยู่ นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งชุมชนชาวหม่านขึ้นเป็นเขตปกครองตนเองอีกหลายแห่ง เช่น ซิ่วเหยียน ฟ่งเฉิง ซินปิน ชิงหลง ฟงหนิง เป็นต้น ชาวหม่านมีจำนวนประชากร 10,682,263 คน พูดภาษาหม่าน จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาหม่าน-ตุนกุส แขนงภาษาหม่าน ภาษาเขียนพัฒนาขึ้นในศตวรรษที่ 16 โดยได้แบบอย่างมาจากภาษามองโกล จากนั้นได้ยืมอักษรมองโกลมาใช้โดยเติมจุดเติมวงเรียกภาษาเขียนนี้ว่า ภาษาหม่านที่มีวงและจุด หรือเรียกอีกชื่อว่า ภาษาหม่านใหม่ ส่วนภาษาเขียนแบบดั้งเดิมที่ประดิษฐ์ขึ้นในปลายศตวรรษที่ 16 นั้นเรียกว่า ภาษาหม่านแบบไม่มีวงและจุด แต่เนื่องจากว่าชาวหม่านได้เข้ามาปกครองจีนในสมัยราชวงศ์ชิงจนถึงช่วงการปฎิวัติซินไห่ ทำให้ชาวหม่านได้รับวัฒนธรรมของชาวฮั่น และได้หลอมรวมกับชาวฮั่น และพูดภาษาจีน จนในปัจจุบันภาษาของชาวหม่านใกล้สาบสูญเหลือคนพูดได้เพียงผู้สูงอายุในชนบทภาคเหนือของจีนและเหล่าผู้สนใจศึกษาเท่านั้น



4. กลุ่มชาติพันธุ์หุย เป็นกลุ่มชนที่น่าสนใจ เพราะเป็นกลุ่มชนที่แยกออกมาโดยใช้หลักเกณฑ์ของศาสนา ไม่ใช่เชื้อชาติหรือภาษาเหมือนกลุ่มชนชาติอื่น ชาวหุยประกอบด้วยชาวมุสลิมทั้งหมดในประเทศจีนที่ไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มชนชาติมุสลิมอื่น ๆ ในจำนวนนี้รวมทั้งชาวมุสลิมไห่หนาน ชาวมุสลิมป๋าย และมุสลิมทิเบต คำเรียกชนเผ่าหุยปรากฏครั้งแรกในบันทึกสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือและซ่งใต้ โดยมีกล่าวถึงกลุ่มชนชื่อ หุยเหอและหุยกู่ ซึ่งเป็นอิสลามิกชน ในศตวรรษที่ 13 ชาวหุยเหออพยพไปทางตะวันออกพร้อมกับชนเผ่าที่นับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน ได้แก่ ชาวเปอร์เซีย อาหรับ โดยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณทุ่งราบภาคกลาง ปัจจุบันชาวเผ่าหุยรวมตัวกันอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าหุย เมืองหนิงเซี่ย นอกจากนี้ในบริเวณมณฑลกานซู๋ ชิงไห่ หยุนหนาน เหอเป่ย ซานตง และเหอหนาน ก็มีชุมชนชาวหุยเล็กบ้างใหญ่บ้างอาศัยอยู่ประปราย มีจำนวนประชากร 9,816,802 คน ชาวหุยอยู่ร่วมกับชาวฮั่นมาเป็นเวลาช้านาน ปัจจุบันพูดภาษาฮั่น และหากอยู่ในชุมชนเผ่าอื่นก็จะเรียนรู้ภาษาของเผ่าใกล้เคียง



5. กลุ่มชาติพันธุ์เมี้ยว ชาวเมี้ยวสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่ากลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำแยงซีที่ชื่อ หนานหมาน ในสมัยราชวงศ์ฉินและฮั่นตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขึ้นในบริเวณพื้นที่เมืองเซียงซีและเฉียนตงในปัจจุบัน ในอดีตเรียกชื่อว่าบริเวณอู่ซี ในบริเวณดังกล่าวมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่รวมกันมากมาย จึงรวมเรียกชื่อว่า อู่ซีหมาน หรืออู่หลิงหมาน ต่อมาชนกลุ่มน้อยเหล่านี้กระจัดกระจายอพยพไปทางตะวันตก ปัจจุบันนี้ชาวเมี้ยวมีถิ่นฐานอยู่ในเมืองและมณฑลต่าง ๆ ในจีนหลายแห่ง เช่น กุ้ยโจว หูหนาน หยุนหนาน เสฉวน กว่างซี หูเป่ย ไหหลำ ถิ่นที่มีชาวเมี้ยวรวมตัวกันอยู่มากที่สุดคือ บริเวณรอยต่อทางทิศตะออกเฉียงใต้ของเมืองเฉียนกับเมืองเซียงเอ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองเซียงซี มีจำนวนประชากร 8,940,116 คน พูดภาษาเมี้ยว จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาแม้ว-เย้า แขนงภาษาแม้ว แบ่งได้ 3 สำเนียงคือ สำเนียงเซียงซีตะวันออก สำเนียงเฉียนตงส่วนกลาง และสำเนียงชวนเฉียนเตียนตะวันตก สำเนียงชวนเฉียนเตียนตะวันตกยังแบ่งออกได้อีก 7 สำเนียงย่อย ปี 1956 รัฐบาลจีนได้ประดิษฐ์อักษรสำหรับชนเผ่าเมี้ยวขึ้นโดยใช้ตัวอักษรโรมัน และใช้อย่างกว้างขวางจนปัจจุบัน



6. กลุ่มชาติพันธุ์เวยอูร์ บรรพบุรุษของชาวอุยกูร์สามารถสืบสาวขึ้นไปถึงเมื่อสามปีก่อนคริสตกาล จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 3 รู้จักชนกลุ่มนี้ในชื่อ ติงหลิง เป็นกลุ่มชนที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณทางฝั่งทิศเหนือเมืองเซียงหนู ชาวติงหลิงมีชื่อเรียกหลายชื่อ ที่สำคัญคือชื่อ หุยกู่ จนถึงกลางศตวรรษที่ 10 เก๋อหลัวลู่ ซึ่งเป็นชาวหุยกู่ ก่อตั้งราชวงศ์คาลาขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ชาวอุยกูร์ ปัจจุบันส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าทางทิศใต้ของหุบเขาเทียนซาน ในเขตปกครองตนเองอุยกูร์ มณฑลซินเจียง และมีส่วนน้อยกระจายอยู่ที่อำเภอเถาหยวน ฉางเต๋อ ของมณฑลหูหนาน มีจำนวนประชากร 8,399,393 คน พูดภาษาอุยกูร์ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาเทอร์จิค ในสมัยโบราณชนเผ่าอุยกูร์ใช้ภาษาอุยกูร์ หลังจากศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้าสู่เผ่าอุยกูร์ในศตวรรษที่ 11 ชาวอุยกูร์ใช้อักษรภาษาอาหรับเป็นหลัก หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประดิษฐ์ภาษาเขียนโดยใช้อักษรภาษาโรมัน แต่ไม่เป็นที่นิยมนัก ในต้นปี ค.ศ.1980 จึงกลับมาใช้อักษรภาษาอาหรับอีกครั้ง ชาวอุยกูร์นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนหนี่และซูฟี เนื่องจากศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาวฮั่น ทำให้บางครั้งเกิดการกระทบกระทั่งกับชาวฮั่นและมีการเรียกร้องเอกราชในนามของเตอร์กิสถานตะวันออก



7. กลุ่มชาติพันธุ์ถู่เจีย ชาวถู่เจียสืบเชื้อสายมาจากชาวอูหมาน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ดำรงชีวิตอยู่ช่วงกลางสมัยราชวงศ์ถัง มีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับชาวอี๋ ปัจจุบันมีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่บนหุบเขาหลิงซาน ได้แก่ บริเวณตะวันตกของมณฑลหูหนาน อำเภอหย่งซุ่น หลงซาน ป่าวติ้ง ซางจื๋อ กู่จ้าง ในมณฑลหูเป่ยก็มีอีกหลายอำเภอเช่น อำเภอหลายเฟิ่ง เฮ่อเฟิง เสียนเฟิง เสวียนเอิน ลี่ชวน เอินชือ ปาตง เจี้ยนสื่อ อู่เฟิง ฉางหยาง เป็นต้น ในมณฑลเสฉวนเช่น อำเภอโหย่วหยาง ซิ่วซาน เฉียนเจียง สือจู้ เผิงสุ่ย ชาวถู่เจียมีจำนวนประชากร 8,028,133 คน พูดภาษาถู่เจีย จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาทิเบต-พม่า ไม่มีภาษาเขียน ปัจจุบันชาวถู่เจียส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษาจีนสำเนียงท้องถิ่นและอักษรจีน มีเฉพาะที่อำเภอเฮ่อเฟิง มณฑลหูเป่ย ประมาณ 2 แสนคนที่ยังพูดภาษาถู่เจียอยู่ ชาวถู่เจียมีชื่อเสียงในเรื่องการร้องเพลงและการเต้น



8. กลุ่มชาติพันธุ์อี๋ เดิมคือชนเผ่าเชียงโบราณ ที่อพยพลงใต้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งในขณะนั้นได้มีชนเผ่าโบราณหลายกลุ่มอพยพมาและตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว เมื่อชนเผ่าเชียงโบราณอพยพมาถึงก็ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ปะปนรวมกันกับชนร้อยเผ่า จนผสมผสานกลมกลืนกันขึ้น จากนั้นบรรพบุรุษของชาวอี๋ได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มเรียกชื่อว่า อูหมาน (หมานดำ) และป๋ายหมาน (หมานขาว) กลุ่มหมานดำ คือ กลุ่มที่พัฒนามาจากชนเผ่าบริเวณคุนหมิง ส่วนกลุ่มป๋ายหมานคือกลุ่มชนชาวโส่วและผูเป็นหลัก ปัจจุบันชนเผ่าอี๋มีชื่อเรียกตัวเองต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ เช่น นั่วซู น่าซู หลัวอู่ หมี่ซาโพ ซาหนี อาซี เป็นต้น บริเวณที่มีชาวอี๋อาศัยอยู่มากได้แก่ มณฑลเสฉวน มีชาวอี๋อยู่ที่กลุ่มปกครองตนเองชาวอี๋เขาเหลียงซาน ที่มณฑลหยุนหนานมีชาวอี๋อยู่ที่กลุ่มปกครองตนเองชาวอี๋เมืองฉู่สยง และกลุ่มปกครองตนเองเผ่าฮาหนี่ เมืองหงเหอ ที่มณฑลกุ้ยโจว มีชาวอี๋อยู่ที่เมืองปี้เจี๋ย และลิ่วผานสุ่ย มีจำนวนประชากร 7,762,286 คน พูดภาษาอี๋ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ มี 6 สำเนียง ภาษาเดิมมีภาษาเขียนที่เป็นอักษรภาพ ชื่อว่า อักษรหนาง ในปี ค.ศ.1975 มณฑลเสฉวนพัฒนาอักษรภาษาอี๋ให้กับชาวอี๋ที่กลุ่มปกครองตนเองชาวอี๋เหลียงซาน ชาวอี๋ส่วนมากนับถือผี ศาสนาพุทธ เต๋า และคริสต์



9. กลุ่มชาติพันธุ์มองโกล ภาษาจีนเรียกชนกลุ่มนี้ว่า เหมิงกู่ แต่ที่รู้จักกันทั่วไปเรียกชื่อว่า มองโกล ชาวมองโกลเคยรุ่งเรืองเป็นราชวงศ์หนึ่งของจีน คือ ราชวงศ์หยวน บรรพบุรุษของชาวมองโกลมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณลุ่มน้ำวั่งเจี้ยน ปัจจุบันคือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเอ๋อเอ่อร์กู่น่า ในปี ค..1206 เตมูจินรวบรวมชนเผ่ามองโกลและก่อตั้งเป็นชาติมองโกลขึ้นในบริเวณฝั่งแม่น้ำโว่หนาน ถือเป็นการก่อตั้งชาติมองโกลครั้งสำคัญ ปี ค.ศ.1219-1260 เจงกีสข่านแห่งมองโกลได้บัญชาการทำสงครามขยายอาณาเขตลงไปทางใต้ จนสามารถก่อตั้งประเทศจีนเป็นรูปเป็นร่างขึ้น และก่อตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นและกุบไล่ข่านที่แผ่ขยายอาณาจักรไปอย่างกว้างขวางจากฝั่งทะเลจีนจนถึงฝั่งทะเลดำในยุโรป ปัจจุบันชาวมองโกลส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกลและกลุ่มปกครองตนเองเผ่ามองโกล ในเขตมณฑลซินเจียง ชิงไห่ กานซู่ เฮยหลงเจียง จี๋หลิน เหลียวหนิง และยังมีกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของมณฑลหยุนหนาน เหอเป่ย เสฉวน หนิงเซี่ย ปักกิ่ง เป็นต้น ชาวมองโกลมีจำนวนประชากร 5,813,947 คน พูดภาษามองโกล จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษามองโกล แบ่งออกเป็น 3 สำเนียงภาษาคือ มองโกเลียใน, Oirat-Khalkha, Khulkha-Buryat ส่วนภาษาอักษรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นจากภาษาอุยกูร์ในต้นศตวรรษที่ 13 และพัฒนามาเรื่อย ๆ โดยนักภาษาศาสตร์ชาวมองโกล จนเป็นภาษามองโกลที่สมบูรณ์ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ศตวรรษที่ 17 ดาไลลามะได้ปรับปรุงอักษรมองโกลเพื่อใช้สำหรับภาษามองโกลสำเนียง KhulkhaBuryat อักษรนี้เรียกว่า ทัวเท่อ ใช้สำหรับชาวมองโกลที่อาศัยอยู่ที่มณฑลซินเจียง



10. กลุ่มชาติพันธุ์ทิเบต ชาวทิเบตหรือชาวจั้ง เป็นชนแขนงหนึ่งของชาวเชียงตะวันตก บรรพบุรุษของชาวจั้งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำหย่าลู จั้งปู้ มานับ 4000 ปีแล้ว ปลายสมัยราชวงศ์สุยต้นสมัยราชวงศ์ถัง ซีปู๋เหย่ รวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในดินแดนทิเบตเข้าเป็นอาณาจักร ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่หลัวซัว ปัจจุบันคือเมืองลาซ่า ขุนนางและประชาชนยกย่องให้ซงจ้านกานปู้ เป็นกษัตริย์ครองอาณาจักร จากนั้นก็ได้เริ่มสร้างอารยธรรมแห่งทิเบตขึ้น ปัจจุบันชาวจั้งมีถิ่นฐานอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบต บริเวณที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ชิงจั้ง ในเขตปกครองตนเองทิเบตมองโกลมณฑลชิงไห่ มณฑลกานซู่มีอยู่ในเขตปกครองตนเองทิเบตเมืองกานหนาน และเขตปกครองตนเองทิเบตเมืองเทียนจู้ ในมณฑลเสฉวนมีอยู่ที่เขตปกครองตนเองทิเบตเมืองอาป้า เขตปกครองตนเองทิเบตเมืองกานจือ เขตปกครองตนเองทิเบตอำเภอมู่หลี่ ในมณฑลหยุนหนานที่เขตปกครองตนเองทิเบตเมืองตี๋ชิ่ง มีจำนวนประชากร 5,416,021 คน มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเองคือภาษาทิเบต จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาทิเบต มี 3 สำเนียงภาษาคือ สำเนียงเว่ยจั้ง สำเนียงคัง และสำเนียงอันตัว อักษรทิเบตประดิษฐ์ขึ้นโดยดูแบบอย่างภาษาสันสกฤตในช่วงต้นศตวรรษที่ 7 และมีการพัฒนาแก้ไขถึงสามครั้ง เป็นภาษาที่มีการประสมเสียงพยัญชนะสระ และใช้มาจนปัจจุบัน ชาวทิเบตเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด และศาสนาพุทธนิกายตันตระของทิเบตก็เแยกออกเป็นนิกายหนึ่งชัดเจน บุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพของชาวทิเบต คือ องค์ดาไล ลามะ ที่ลี้ภัยอยู่ในอินเดียซึ่งเป็นผู้นำการเรียกร้องเอกราชจากจีน



11. กลุ่มชาติพันธุ์ปูยี ชนกลุ่มน้อยเผ่าปูยีสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษที่ชื่อ ชนร้อยเผ่า ภาษาจีนเรียกว่า ไป่เยว่ อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองเฉียนหนาน เฉียนซีหนาน เขตปกครองตนเองเผ่าปูยีและเผ่าแม้ว ในเขตเมืองอันซุ่นและเมืองกุ้ยหยาง ยังมีบางส่วนกระจัดกระจายอาศัยอยู่ในบริเวณเขตปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยของมณฑลหยุนหนานและมณฑลเสฉวน มีจำนวนประชากร 2,971,460 คน พูดภาษาปูยีจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาจ้วงต้ง แขนงจ้วงไต เป็นภาษาที่มีความใกล้ชิดกับภาษาจ้วงมาก ภาษาจ้วงสำเนียงจ้วงเหนือเหมือนกันกับภาษาปูยีที่พูดกันในตำบลวั่งโม่ เช่อเฮิง ตู๋ซาน อันหลง และตำบลซิ่งอี้ เดิมทีชนเผ่าปูยีไม่มีภาษาเขียน ใช้อักษรจีนมาตลอด หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีการประดิษฐ์ภาษาเขียนเป็นของตนเองโดยใช้อักษรภาษาลาติน ชาวนับถือผีและศาสนาพุทธ



12. กลุ่มชาติพันธุ์ต้ง ชาวต้งเป็นกลุ่มชนชาวเหลียวโบราณ ซึ่งเป็นชนกลุ่มย่อยของชนร้อยเผ่า ไป่เยว่ ปัจจุบันมีชาวต้ง ชาวเหมาหนาน ชาวจ้วง และชาวสุ่ย ชนทั้ง 4 กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ด้านภาษา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่และบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงและคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะทางด้านภาษา นักภาษาศาสตร์จีนจึงจัดภาษาทั้ง 4 ภาษาอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน ปัจจุบันชาวต้งอาศัยอยู่ในมณฑลกุ้ยโจว บริเวณเมืองหลีผิง ฉงเจียง หรงเจียง เทียนจู้ จิ่นผิง ซานซุ่ย เจิ้นหย่วน เจี้ยนเหอ ยวี่ผิง ในมณฑลหูหนาน บริเวณเมืองซินห่วง จิ้งเซี่ยน ทงเต้า ในเขตปกครองตนเองเผ่าจ้วง มณฑลกว่างซี บริเวณตำบลซานเจียง หลงเซิ่ง หรงสุ่ย มีจำนวนประชากร 2,960,293 คน พูดภาษาต้ง จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาต้ง-สุ่ย แบ่งออกเป็น 2 สำเนียงภาษาคือ สำเนียงต้งเหนือและสำเนียงต้งใต้ ไม่มีภาษาอักษร ส่วนใหญ่ใช้อักษรจีน กระทั่งในปี ค.ศ.1958 มีการประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้โดยใช้อักษรภาษาโรมัน ชาวต้งมีชื่อเสียงในด้านการสร้างสะพานที่มีหลังคาครอบที่เรียกว่า สะพานลมและฝน และนอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงเรื่องการขับร้องเพลงประสานเสียงอีกด้วย ซึ่งการขับร้องเพลงประสานเสียงของชาวต้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกที่จับต้องไม่ได้อีกด้วย



13. กลุ่มชาติพันธุ์เย้า ชนเผ่าเย้า (ภาษาจีนเรียกว่าเหยา) มีความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ใกล้ชิดกับชนเผ่าโบราณชื่อ จิงหมาน และ ฉางซาอู่หลิงหมาน มีชื่อเรียกตัวเองหลายชื่อ อ่านตามเสียงอักษรจีนที่บันทึกไว้มี เหมี่ยน จินเหมิน ปู้หนู่ ปิ่งตัวโยว เฮยโหยวเหมิง ลาเจีย นอกจากนี้ด้วยเหตุที่ชาวเย้าในแต่ละท้องที่มีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และลักษณะที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน จึงมีชื่อเรียกตนเองแตกต่างกันไปด้วย เช่น ซานจื่อเหยา หมายถึง ชาวเย้าภูเขา ป๋ายคู่เหยา หมายถึง เย้ากางเกงขาว หงเหยา หมายถึง เย้าแดง หลานเตี้ยนเหยา หมายถึง เย้าน้ำเงิน ผิงตี้เหยา หมายถึง เย้าที่ราบ เอ้าเหยา หมายถึง เย้าที่ราบหุบเขา เป็นต้น หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงเรียกชื่อชนเผ่านี้รวมกันว่า เหยา ปัจจุบันชนเผ่าเหยาอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงในมณฑลกว่างซี และกระจายอยู่ตามมณฑลต่าง ๆ เช่น หยุนหนาน กว่างซี กุ้ยโจว มีจำนวนประชากร 2,637,421 คน พูดภาษาเหยา แต่การแบ่งสายตระกูลภาษาค่อนข้างซับซ้อน เพราะภาษาในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันมาก ถึงขั้นที่ภาษาเหยาในต่างพื้นที่กันไม่สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ บางกลุ่มพูดภาษาจีนและภาษาจ้วง ไม่มีภาษาเขียน ส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีน



14. กลุ่มชาติพันธุ์เฉาเสี่ยน ชนกลุ่มน้อยเผ่าเฉาเสี่ยนมีบรรพบุรุษเป็นชาวเฉาเสี่ยนที่อพยพมาจากคาบสมุทรเกาหลีตั้งแต่ปลายราชวงศ์หมิงต่อกับต้นราชวงศ์ชิงแล้วพัฒนาเป็นชนเผ่าที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของจีน ปัจจุบันชนกลุ่มน้อยเผ่าเฉาเสี่ยนอาศัยอยู่ในพื้นที่ของ 3 มณฑลคือ เฮยหลงเจียง จี๋หลิน และเหลียวหนิง นอกจากนั้นยังมีกระจัดกระจายอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองมองเลียใน ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หังโจว กว่างโจว เฉิงตู จี่หนาน ซีอาน อู่ฮั่น เป็นต้น ชาวเฉาเสี่ยนมีจำนวนประชากร 1,923,842 คน ชาวเฉาเสี่ยนที่อาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเฉาเสี่ยน มณฑลจี๋หลินพูดและใช้ตัวหนังสือภาษาเฉาเสี่ยน ส่วนกลุ่มที่อาศัยกระจัดกระจายตามเมืองอื่น ๆ ใช้ภาษาและอักษรจีนเป็นหลัก



15. กลุ่มชาติพันธุ์ป๋าย อารยธรรมของชาวป๋ายเริ่มมาตั้งแต่ยุคหินใหม่ มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเมืองเฮ่อไห่ ในยุคนั้นชาวป๋ายอาศัยอยู่ในถ้ำ ปัจจุบันชาวป๋ายอาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน คือในเขตปกครองตนเองเผ่าป๋าย เมืองต้าหลี่ มณฑลหยุนหนาน ได้แก่ บริเวณเมืองลี่เจียง ปี้เจียง ป่าวซาน หนานหัว หยวนเจียง คุนหมิง อันหนิง และในเขตอำภอปี้เจี๋ยของเมืองกุ้ยโจว อำเภอเหลียงซานของมณฑลเสฉวน และในอำเภอซางจื๋อของมณฑลหูหนานก็มีชนเผ่าป๋ายอาศัยอยู่ประปราย ชนกลุ่มน้อยเผ่าป๋ายมีจำนวนประชากร 1,858,063 คน ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาป๋าย จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า นอกจากนี้ภาษาที่ใช้ทั่วไปคือภาษาฮั่น ในยุคราชวงศ์หยวนและหมิงเคยใช้ภาษาเฝิน ชาวป๋ายนับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน และยังนับถือเทพประจำหมู่บ้าน



16. กลุ่มชาติพันธุ์ฮาหนี่ บรรพบุรุษของชาวฮาหนี่ เป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของแม่น้ำต้าตู้ บริเวณเมืองเหออี๋ ซึ่งในสมัยโบราณเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเชียงที่อพยพลงมาจากเหนือ ในบันทึกสมัยราชวงศ์ถังเรียกบรรพบุรุษของชาวฮาหนี่ว่า เหอหมาน ปัจจุบันชนเผ่าฮานีอาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลหยุนหนาน บริเวณตอนปลายของแม่น้ำหลี่ รวมพื้นที่หลายตำบลเช่น ซินผิง เจิ้นหยวน โม่เจียง หยวนเจียง หงเหอ หยวนหยาง ลวี่ชุน จินผิง เจียงเฉิง เป็นต้น มีจำนวนประชากร 1,439,673 คน พูดภาษาฮาหนี่จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ ไม่มีตัวหนังสือใช้ ในปี ค.ศ.1957 รัฐบาลจีนได้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอักษรขึ้นใช้โดยใช้ตัวอักษรโรมัน ชาวฮาหนี่นับถือบรรพบุรุษ และบางส่วนนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท



17. กลุ่มชาติพันธุ์คาซัค ชื่อชนเผ่าคาซัค ปรากฏครั้งแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 15 ในยุคนั้นบริเวณภาคตะวันออกมีเมืองหนึ่งชื่อ Ozbek มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่ปลายสายของแม่น้ำซีร์ ในปี ค..1456 เมือง Khan แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ จีลาย และJanibek ต่อมาชนในพื้นที่นี้เข้มแข็งขึ้นและแยกตัวออกมาจากประเทศ Khan ซึ่งก็คือชาวคาซัคนั่นเอง ต่อมาชาวคาซัครวบรวมชนเผ่าเล็กเผ่าน้อยข้างเคียงสถาปนาประเทศของตนขึ้นเป็นประเทศชื่อ คาซัคข่าน ขึ้นในปลายศตวรรษที่ 15 นับเป็นต้นกำเนิดของชนเผ่าคาซัคที่เก่าแก่ที่สุด ปัจจุบันชนกลุ่มน้อยเผ่าคาซัคอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเวยอูร์ กลุ่มปกครองตนเองอีหลีคาซัค กลุ่มปกครองตนเองมู่เหลยคาซัค และอำเภอปกครองตนปาหลีคุนคาซัคของมณฑลซินเจียง นอกจากนี้ยังมีจำนวนน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ในมณฑลกานซู่ และมณฑลชิงไห่ ชาวคาซัคมีจำนวนประชากร 1,250,458 คน ประชากรส่วนใหญ่อาศัยรวมตัวกันอยู่ที่เขตปกครองตนเองเวยอูร์ พูดภาษาคาซัค จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาเทอร์กิค ชาวคาซัคตั้งแต่อดีตเคยใช้ภาษา Kyrgyz – Kypchak และภาษา Yugur หลังจากที่ศาสนาอิสลามได้เผยแพร่เข้ามาในปี ค..1959 ได้พัฒนาภาษาอักษรขึ้นใช้โดยใช้อักษรภาษาโรมัน แต่ใช้ไม่แพร่หลายมากนัก กระทั่งปี ค.ศ.1982 กลับมาใช้ภาษาแบบดั้งเดิมที่เคยใช้ในอดีต ส่วนภาษาใหม่ที่เป็นอักษรโรมันใช้เป็นเพียงอักษรกำกับเสียงเท่านั้น ชาวคาซัคส่วนมากเป็นเกษตรกรและเลี้ยงสัตว์ในเขตทุ่งหญ้า นับถือศาสนาอิสลาม



18. กลุ่มชาติพันธุ์หลี ชนชาวหลีสืบเชื้อสายมาจากชนร้อยเผ่า ชื่อ ป่ายเยว่ ในสมัยโบราณ ในอดีตชาวฮั่นมีคำเรียกชนกลุ่มน้อยทางตอนใต้หลายชื่อ โดยไม่ได้แบ่งว่าเป็นชนกลุ่มใด ในสมัยซีฮั่น เรียกว่า ลั่วเยว่ สมัยตงฮั่น เรียกว่า หลี่ หมาน สมัยสุยและถัง เรียกว่า หลี่ เหลียว ปัจจุบันชนกลุ่มน้อยเผ่าหลีอาศัยอยู่ตามเชิงเขา บริเวณตอนใต้ของมณฑลไหหลำในเขตตำบล ฉยง-จง ป๋ายซา ชางเจียง ตงฟาง เล่อตง หลิง สุ่ย ป่าวถิง เมืองทงสือ เมืองซานย่า มีสำเนียงภาษาและการแต่งกายแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ ชื่อเรียกตัวเองก็แตกต่างกันด้วย เช่น ปั้น ฉี ฉี่ เหม่ยฝู เปิ่นตี้ เป็นต้น มีจำนวนประชากร 1,247,814 คน พูดภาษาหลีจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาหลี ในปี ค.ศ.1957 มีการประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้โดยใช้อักษรภาษาโรมัน ชาวหลีนับถือผีร่วมกับศาสนาพุทธนิกายเถรวาท การทอผ้าของชาวหลียังได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโกให้เป็นมรดกอันจับต้องมิได้อีกด้วย



19. กลุ่มชาติพันธุ์ไต ตามพงศาวดารจีนชี้ว่าคนไตอยู่ติดดินแดนสิบสองปันนามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 แล้ว มีชื่อเรียกตัวเองหลายชื่อ เช่น ไต่เล่อ ไต่ หย่า ไต่น่า ไต่เปิง ในยุคราชวงศ์ฮั่นและจิ้นเรียกชนกลุ่มนี้ว่า เตียนเยว่  ต่าน ซ่าน เหลียว และจิวเหลียว ในยุคราชวงศ์ถังและซ่งเรียกชนกลุ่มนี้ว่า จินฉื่อ เฮยฉื่อ หมาง หมาน ป๋ายอี ปัจจุบันชาวไตอาศัยในเขตปกครองตนเองเผ่าไตสิบสองปันนาของมณฑลหยุนหนาน เขตปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าจิ่งโปเมืองเต๋อหง ตำบลปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าว้าเมืองเกิ่งหม่า ตำบลปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าลาหู่เมืองเมิ่งเหลียน มีจำนวนประชากร 1,158,989 คน พูดภาษาไต เป็นภาษาในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาจ้วง-ไต ชนเผ่าไตมีตัวหนังสือของตนเอง แต่มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น มีการปรับปรุงใหม่ในปี 50 ของศตวรรษที่ 20 ใช้มาจนปัจจุบัน ชาวไตนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท มีชื่อเสียงเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์เช่นเดียวกับคนไทย



20. กลุ่มชาติพันธุ์เซอ ชาวเซอเรียกตัวเองว่า ซานฮา หมายถึงผู้ที่อาศัยอยู่บนภูเขา สืบเชื้อสายมาจากชนกลุ่มเดียวกันกับชนเผ่าเย้าชื่อ อู่หลิงหมาน หรือเรียกอีกชื่อว่า อู่ซีหมาน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคราชวงศ์ฮั่นและจิ้น ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน บริเวณมณฑลฝูเจี้ยน เจ้อเจียง เจียงซี กว่างตง และอันฮุย พงศาวดารในยุคราชวงศ์ถังมีบันทึกเกี่ยวกับชนเผ่าเซอหลายชื่อคือ หมาน หมานเหลียว ตงหมาน หรือตงเหลียว จนถึงยุคราชวงศ์ซ่งใต้เริ่มมีบันทึกเกี่ยวกับชาวเซอ โดยเรียกชื่อชนกลุ่มนี้ว่า ชาวเซอ และ เฉวียนหมิน หลังปฏิวัติวัฒนธรรมชนกลุ่มนี้เปลี่ยนชื่อเป็น เผ่าเซอ มีจำนวนประชากร 709,592 คน พูดภาษาเซอ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาแม้ว-เย้า 99%ของคำในภาษาเซอใกล้เคียงกับภาษาจีนสำเนียงแคะ แต่มีความแตกต่างกันด้านระบบเสียง และมีคำศัพท์บางคำเป็นคนละคำแยกต่างหากจากภาษาจีนแคะ ไม่มีตัวหนังสือใช้ ใช้อักษรจีน ชาวเซอนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และเต๋า



21. กลุ่มชาติพันธุ์ลี่ซู เป็นชนกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งของชนเผ่าโบราณชื่อ อูหมาน (หมานดำ) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางสายเลือดกับชนเผ่าอี๋และเผ่าน่าซี ในศตวรรษที่ 8 บรรพบุรุษของชาวลี่ซูตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำจินซา ต่อมาอพยพหลบหนีลงไปทางใต้แยกเป็น 2 สาย สายหนึ่งไปทางทิศตะวันตกและตะวันออก เข้าสู่บริเวณเมืองเต๋อหง หลินชาง และเกิ๋งหม่า อีกสายหนึ่งอพยพลัดเลาะไปตามฝั่งแม่น้ำจินซา จนตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองลู่เชวี่ยน และต้าเหยา ปัจจุบันอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองนู่เจียงเผ่าลี่ซูของมณฑลหยุนหนาน และยังมีกระจัดกระจายอยู่ในตำบลและอำเภอต่าง ๆ ของมณฑลหยุนหนาน ในมณฑลเสฉวนก็มีชาวลี่ซูอาศัยอยู่ประปราย ปัจจุบันชาวลี่ซูมีจำนวนประชากร 634,912 คน พูดภาษาลี่ซู จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ ชาวลี่ซูนับถือผี และบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์



22. กลุ่มชาติพันธุ์อี้ลาว เป็นชนเผ่าเก่าแก่และดั้งเดิมที่สุดเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบสูงหยวินกุ้ย มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มชนในอดีตชื่อ เหลียว ซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณกลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่งในประเทศเย่หลาง มีประวัติความเป็นมายาวนานราว 2100 ปีคือตั้งแต่สมัยราชวงส์ซีและฮั่นเป็นต้นมา สมัยราชวงศ์ซ่งและถัง เรียกชื่อว่า เก๋อเหลียว เก๋อหล่าว อี้หล่าว อี้เหลียว แต่ชื่อกลางที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือ เหลียว ปัจจุบันมีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ และทางตอนเหนือของมณฑลกุ้ยโจว ครอบคลุมพื้นที่กว่า 20 เมือง เช่น จุนอี้ เหรินหวน อันซุ่น กวานหลิ่ง ผู่อัน เป็นต้น มีบางส่วนกระจายอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงในมณฑลกว่างซี และบริเวณของเขตปกครองตนเองเหวินซานเผ่าจ้วงและเผ่าแม้วในมณฑลหยุนหนาน มีจำนวนประชากร 579,357 คน ภาษาดั้งเดิมชื่อภาษาเกอลาว จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าจัดอยู่ในสาขาภาษาและแขนงภาษาใด ไม่มีตัวหนังสือใช้



23. กลุ่มชาติพันธุ์ตงเซียง ชนเผ่าตงเซียงเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชนเผ่าเล็กเผ่าน้อยที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณหมู่บ้านตงเซียงราวกลางศตวรรษที่ 14 ที่สำคัญคือ กลุ่มชนชาวเซ่อมู่ และมองโกล ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีการแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์ร่วมกับชาวฮั่นและชาวทิเบตเรื่อยมาจนหลอมรวมเป็นชนเผ่าใหม่ ตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านชื่อ บ้านตงเซียง จึงตั้งชื่อชนกลุ่มนี้ตามถิ่นที่อยู่ว่า เผ่าตงเซียง ชาวตงเซียงเรียกตัวเองว่า ซาร์ทา ก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกชื่อชนกลุ่มนี้หลายชื่อ เช่น หุยหุยตงเซียง มองโกลตงเซียง ชาวเผ่าถู่ตงเซียง ปัจจุบันชาวเผ่าตงเซียงอาศัยอยู่ในบริเวณอำเภอปกครองตนเองตงเซียง เขตปกครองตนเองเผ่าหุย ตำบลหลินเซี่ย นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายอาศัยอยู่บริเวณเมืองเมืองต่าง ๆ ของมณฑลกานซู่ และมณฑลซิงเจียง มีจำนวนประชากร 513,805 คน พูดภาษาตงเซียง จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขามองโกล ไม่มีตัวหนังสือใช้ส่วนใหญ่พูดภาษาฮั่นได้และใช้อักษรจีน ชาวตงเซียงส่วนมากทำการเกษตร นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนหนี่



24. กลุ่มชาติพันธุ์เกาซาน ชนกลุ่มน้อยเผ่าเกาซานอาศัยอยู่บริเวณที่เป็นภูเขาสูงบนเกาะติดชายทะเลด้านตะวันออกของเกาะไต้หวันที่เรียกว่า จ้งกู่ผิงหยวน และบริเวณหลันหยวี่ ชาวไต้หวันเรียกชนกลุ่มนี้ว่า พี่น้องชาวเขา ในบริเวณดังกล่าวมีประชากรชาวเขาอยู่มากกว่าสิบกลุ่ม มีภาษาต่าง ๆ กัน อาศัยเป็นกลุ่ม ๆ แยกจากกัน เช่น ชาวอาเหม่ย ชาวไท่หย่า ชาวผายวัน ชาวปู้หนง ชาวหลูข่าย ชาวเปยหนาน ชาวเฉา ชาวไซ่เซี่ย ชาวหยาเหม่ย เป็นต้น ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันชนกลุ่มนี้ผสมผสานกลมกลืนรับวัฒนธรรมและภาษาฮั่นมากมายจนไม่เหลือความเป็นชนเผ่าแต่ดั้งเดิม และกลายมาเป็นชาวฮั่นอย่างเต็มตัวกว่าแสนคน กระทั่งศตวรรษที่ 19 หลอมรวมเป็นกลุ่มเดียวกันกับชาวฮั่น ปัจจุบันชนกลุ่มน้อยเผ่าเกาซานมีจำนวนประชากร 458,000 คน เดิมมีภาษาพูดเป็นของตนเอง จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเนเซียน สาขาภาษาอินโดนีเซีย ไม่มีตัวหนังสือใช้



25. กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ชาวลาหู่สืบเชื้อสายมาจากชนชาติเชียง ซึ่งเป็นชนเผ่าโบราณที่ดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณกานซู่และที่ราบสูงทิเบตมาแต่ครั้งบรรพกาล ต่อมาอพยพลงใต้เข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณตอนใต้ของฝั่งแม่น้ำจินซา ซึ่งเป็นพื้นที่ของมณฑลหยุนหนานในปัจจุบัน ในยุคราชวงศ์ฉินและฮั่นดำรงชีวิตอยู่ในบริเวณชุมชนที่พูดภาษาแขนงภาษาอี๋ จึงถูกเรียกว่า ชาวอี๋คุนหมิง นับเป็นบรรพบุรุษชาวลาหู่รุ่นแรก เรียกตัวเองว่า ลาหู่ แต่บุคคลภายนอกเรียกชนเผ่านี้ต่างกันไปหลายชื่อ เช่น หลัวเฮย เกอชัว เหมี่ยน มูเซอ ขู่ชง เป็นต้น ปัจจุบันชาวลาหู่ประมาณ 80% อาศัยอยู่ในแถบลุ่มน้ำหลานชาง บริเวณเมืองซือเหมา หลินชาง ในเขตที่เป็นรอยต่อของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เขตปกครองตนเองเผ่าฮาหนี่เผ่าอี๋และในเมืองยวี่ซีก็มีชนเผ่าลาหู่อาศัยอยู่ มีจำนวนประชากร 453,705 คน พูดภาษาลาหู่ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ ชาวลาหู่อาศัยอยู่ร่วมกับชาวฮั่นและชาวไตมาเป็นเวลาช้านาน ส่วนมากสามารถพูดภาษาไตและภาษาฮั่นได้ ในอดีตเคยใช้อักษรที่ประดิษฐ์ขึ้นจากตัวอักษรโรมันโดยหมอสอนศาสนาตะวันตก กระทั่งปี ค.ศ. 1957 ได้พัฒนาขึ้นใช้อย่างเป็นทางการ



26. กลุ่มชาติพันธุ์สุย สุยภาษาจีนออกเสียงว่า สุ่ย สืบเชื้อสายและแตกแขนงมาจากชนร้อยเผ่าโบราณที่ชื่อ ไป่เยว่ ซึ่งมีอารยธรรมมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฉินและฮั่น ในยุคราชวงศ์ถังและซ่งมีชื่อเรียกเป็นชื่อเดียวกันกับชนเผ่าที่พูดภาษากลุ่มจ้วงต้งว่า เหลียว จนถึงยุคราชวงศ์หมิงและชิงจึงแยกตัวเองออกมาเรียกตัวเองว่า สุ่ย อารยธรรมของชาวสุ่ยเริ่มถือกำเนิดตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง โดยตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งอยู่บริเวณรอยต่อของต้นแม่น้ำหลง และต้นแม่น้ำหลิ่ว โดยมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า เขตฝูสุ่ย ปัจจุบันชาวเผ่าสุ่ยส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ที่เขตปกครองตนเองเผ่าสุ่ย มณฑลกุ้ยโจว และกระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ของมณฑลกุ้ยโจว เช่น ลี่โป ตู๋ซาน ตูหยวิน หรงเจียง ฉงเจียง และมีส่วนน้อยที่กระจัดกระจายอยู่ในตำบลต่าง ๆ ของมณฑลกว่างซี มีจำนวนประชากร 406,902 คน พูดภาษาสุ่ย จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาต้ง-สุ่ย ในอดีตมีตัวหนังสือเป็นของตนเอง แต่ปัจจุบันใช้อักษรจีน



27. กลุ่มชาติพันธุ์ว้า เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เก่าแก่มากกลุ่มหนึ่งในมณฑลหยุนหนาน ในยุคราชวงศ์ฮั่นและจิ้นเรียกชนกลุ่มที่พูดภาษากลุ่มมอญ-เขมรแถบมณฑลหยุนหนานว่า ผู ชนกลุ่มนี้อาศัยปะปนอยู่กับชนชาวไต ชาวจ้วง ตามแถบลุ่มแม่น้ำหลานชาง ต่อมาในยุคราชวงศ์ถังและซ่งเรียกชื่อกลุ่มชนในบริเวณนี้ต่าง ๆ กัน เช่น วั่งหมาน ผูจึหมาน ชื่อโข่วผู เฮยเฝินผู ซึ่งล้วนเป็นชื่อเรียกกลุ่มชนที่พูดภาษาสาขาว้า-ปะหล่องทั้งสิ้น ในยุคราชวงศ์หยวนชนกลุ่มผูหมานแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อย คือ เซิงผู บางครั้งก็เรียกว่า เหย่ผู หมายถึงผูดิบ หรือผูป่า อีกกลุ่มหนึ่งคือ สูผู หมายถึง ผูสุก ชาวเซิงผูที่อาศัยอยู่บริเวณเมืองเจิ้นคังนี้เป็นบรรพบุรุษของชาวว้า ปัจจุบันชาวว้ามีถิ่นฐานอยู่ในมณฑลหยุนหนาน ที่อำเภอซีเหมิง ชางหยวน เมิ่งเหลียน นอกจากนี้ยังมีกระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่ช่วงทิศใต้ของเทือกเขานู่ซาน ระหว่างแม่น้ำหลานชางต่อกับแม่น้ำนู่ จึงเรียกชื่อบริเวณหุบเขานี้ว่า หุบเขาอาหว่า มีจำนวนประชากร 396,610 คน พูดภาษาว้า จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค สาขาภาษามอญ-เขมร แขนงภาษาว้า มี 3 สำเนียงภาษาคือ ปาราวเคอ อาหว่า และ หว่า ไม่มีภาษาเขียน มีตัวอักษรว้าที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยหมอสอนศาสนาคริสต์ แต่ไม่เป็นที่นิยม ต่อมาปี ค.ศ.1957 รัฐบาลจีนส่งนักภาษาศาสตร์จีนไปลงพื้นที่และประดิษฐ์ตัวหนังสือขึ้นโดยใช้อักษรโรมัน ซึ่งใช้มาจนปัจจุบัน



28. กลุ่มชาติพันธุ์น่าซี บรรพบุรุษของชาวน่าซีมีความใกล้ชิดทางชาติพันธุ์กับชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเรียกในยุคราชวงศ์ฮั่นว่า เหมาหนิวอี๋ ชื่อในยุคราชวงศ์จิ้นเรียกชื่อว่า หมัวซาอี๋ ในยุคราชวงศ์ถังเรียกว่า หมัวเซียหมาน ชาวเผ่าน่าซีมีถิ่นที่อยู่ในอำเภอปกครองตนเองเผ่าน่าซีเมืองลี่เจียง ของมณฑลหยุนหนาน นอกจากนี้ในอำเภอเหยียนหยวน เหยียนเปียน มู่หลี่ ของมณฑลเสฉวน และในอำเภอหมางคังของทิเบตก็มีชาวเผ่าน่าซีอาศัยอยู่ มีจำนวนประชากร 308,839 คน พูดภาษาน่าซี จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ ในอดีตมีอักษรภาพสื่อความหมายเรียกว่า อักษรตงปา และมีอักษรแบบแทนเสียงเรียกว่า เกอปา แต่ใช้ไม่แพร่หลาย และสูญหายไปในที่สุด ปัจจุบันชาวน่าซีใช้ภาษาเขียนที่ประดิษฐ์ขึ้นจากอักษรโรมันในปี ค.ศ.1957



29. กลุ่มชาติพันธุ์เชียง บรรพบุรุษของชาวเชียงตั้งรกรากและดำรงชีวิตอยู่ในยุคชุนชิวและจ้านกว๋อ  ถิ่นฐานดั้งเดิมคือบริเวณที่เป็นเมืองกานซู่และชิงไห่ในปัจจุบัน ต่อมาอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำหมิน แล้วผสมกลมกลืนไปกับชนพื้นถิ่นบริเวณนั้น ก่อสร้างชุมชนเกิดเป็นสังคมของชาวเชียงเรื่อยมาจนปัจจุบัน ปัจจุบันชาวเผ่าเชียงอาศัยรวมตัวกันมากที่สุดที่อำเภอเม่าเวิ่น และมีกระจัดกระจายอยู่ในอำเภอเวิ่นชวน หลี่ เฮยสุ่ย ซงพาน ในเขตปกครองตนเองทิเบต อำเภออาป้าของมณฑลเสฉวน มีจำนวนประชากร 306,072 คน พูดภาษาเชียงจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แบ่งเป็น 2 สำเนียงภาษาคือ กลุ่มที่อยู่ในอำเภอเม่าเวิ่น อำเภอเฮยสุ่ย พูดภาษาเชียงสำเนียงเหนือ และกลุ่มที่อยู่ในอำเภออื่น ๆ พูดภาษาเชียงสำเนียงใต้ไม่มีภาษาเขียน ใช้อักษรจีนมาแต่ดั้งแต่อดีต ชาวเชียงนับถือเทพหลายองค์ที่มีความเชื่อแนบแน่นกับหินขาวศักดิ์สิทธิ์



30. กลุ่มชาติพันธุ์ถู่ บรรพบุรุษของชาวถู่มาจากมองโกล และยังมีบางส่วนที่มาจากเมืองเก๋อรื่อลี่เท่อ ซึ่งเป็นตำบลที่อยู่ในอำนาจการปกครองของเจงกิสข่าน จากนั้นแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กับชนเผ่าพื้นเมืองฮั่วเอ๋อร์ สืบทอดเชื้อสายต่อกันมาจนเป็นชาวถู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันชาวถู่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณกลุ่มปกครองตนเองเผ่าถู่เมืองฮู่จู้ ตำบลหมินเหอ ต้าทง ถงเหริน และมีอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ที่ปกครองตนเองทิเบต เมืองเทียนจู้ ในมณฑลกานซู่ ในอดีตชาวถู่มีชื่อเรียกหลายชื่อ ชาวถู่ที่อาศัยอยู่ที่เมืองเทียนจู๋ ต้าทง และฮู่จู้ เรียกตัวเองว่า ชาวมองโกลหรือมองโกลขาว ส่วนชาวถู่ที่อยู่ที่หมินเหอ เรียกตัวเองว่า ถู่คุน หมายความว่า ชาวถู่ ส่วนที่อาศัยอยู่ที่อื่น ๆ บ้างเรียกตัวเองว่า ชุมชนชาวถู่ ชาวทิเบตเรียกชนเผ่านี้ว่า ฮั่วเอ่อร์ ชาวฮั่น ชาวหุย เรียกชนกลุ่มนี้ว่า คนถู่ และชนชาวถู่ หลังก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า ชนกลุ่มน้อยเผ่าถู่ มีจำนวนประชากร 241,198 คน พูดภาษาถู่ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษามองโกล แต่เดิมใช้อักษรภาษาจีน ปัจจุบันกำลังดำเนินการประดิษฐ์อักษรขึ้นใช้โดยใช้อักษรโรมัน ชาวถู่นับถือศาสนาพุทธนิกายตันตระหมวกเหลืองอย่างทิเบตร่วมกับลัทธิเต๋า



31. กลุ่มชาติพันธุ์มู่หล่าว มู่หล่าวมีวิวัฒนาการมาจากชาวชนเผ่าในอดีตที่ชื่อว่า เหลียว ดำรงชีวิตและตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณอยู่ทางตอนใต้ของเทือกเขาหยวินหลิ่ง ซึ่งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงหยวินกุ้ย หลังจากยุคราชวงศ์ถังและซ่งเป็นต้นมาเรียกชื่อว่า ชาวเหลียว หรือชาวหลิ่ง มีชื่อเรียกพื้นเมืองว่า หมู่หล่าว ต่อมาชาวมู่หล่าวแยกตัวออกมาจากชาวหลิ่งและชาวเหลียว ก่อตัวกันเป็นชนเผ่าใหม่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ในอดีตมีชื่อเรียกตัวเองหลายชื่อ เช่น หลิง จิ่น ชาวจ้วงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ปู้จิ่น หลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า มู่หล่าว ปัจจุบันชาวมู่หล่าวส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณอำเภอปกครองตนเองมู่หล่าวในเมืองหลัวเฉิง ของมณฑลกว่างซี นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายอยู่ตามปะปนกับชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นได้แก่ จ้วง ฮั่น เย้า แม้ว ต้ง เหมาหนาน และสุ่ย เป็นต้น มีจำนวนประชากร 207,352 คน พูดภาษามู่หล่าว ยังไม่สามารถจัดกลุ่มได้แน่ชัด แต่เป็นภาษาที่มีความใกล้ชิดกับภาษาเหมาหนาน ภาษาต้ง และภาษาสุ่ย ชาวมู่หล่าวนับถือศาสนาพุทธร่วมกับลัทธิเต๋าและการบูชาผี



32. กลุ่มชาติพันธุ์ซีโป๋ บรรพบุรุษของชาวซีโป๋ คือ ชนเผ่าโบราณชื่อ เซียนเปย อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเนิ่น แม่น้ำชั่วเอ่อร์ แม่น้ำซงฮวา ภาษาจีนมีชื่อเรียกชนกลุ่มนี้โดยใช้อักษรจีนเขียนแทนเสียงหลายชื่อ เช่น ซีผี ซือปี่ เซียนเปย สื่อปี่ สีป่าย สีปี่ เป็นต้น ปัจจุบันมีถิ่นที่อยู่ที่เมืองเสิ่นหยาง คายหยวน อี้เซี่ยน เป่ยเจิ้น ซินหมิน เฟิ่งเฉิง ของมณฑลเหลียวหนิง และในกลุ่มปกครองตนเองอุสเบค เขตปกครองตนเองอีหลีฮาซัค เมืองชาปูชา มณฑลซินเจียง นอกจากนี้ ยังมีส่วนน้อยกระจายอยู่ตามเขตปกครองตนเองชุมชนรัสเซีย มองโกล มณฑลจี๋หลิน ในเมืองหลวงปักกิ่งก็มีชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่กระจัดกระจาย มีจำนวนประชากร 188,824 คน ชาวซีโป๋ที่มีถิ่นฐานอาศัยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้อักษรจีนและภาษามองโกล ส่วนชาวซีโป๋ที่มีถิ่นฐานอาศัยบริเวณมณฑลซินเจียงใช้ภาษาซีโป๋ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาหม่าน-ตุนกุส แขนงภาษาหม่าน การแต่งกายของชาวซีโป๋จะคล้ายกับชาวแมนจูแต่ในปัจจุบันจะแต่งเฉพาะในโอกาสสำคัญเท่านั้น



33. กลุ่มชาติพันธุ์เคอร์กิส เมื่อ 2000 ปีก่อนบรรพบุรุษของชาวเคอร์กิสตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนเหนือของที่ราบลุ่มฝั่งแม่น้ำเยนิซาย จากนั้นค่อย ๆ อพยพลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้จนถึงหุบเขาเทียนซาน และอาศัยอยู่บริเวณนั้นเป็นเวลานานจนผสมกลมกลืนไปกับชนพื้นถิ่นคือ ชาวเทอจิค และ มองโกล ปัจจุบันชาวเคอร์กิสอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองชื่อ Qizilsu Qirghiz ในมณฑลซินเจียง ในเขตเมืองอีหลี ถ่าเฉิง อาเค่อซู นอกจากนี้ยังประปรายมีอยู่ในตำบลฟู่-ยวี่ ของมณฑลเฮยหลงเจียง มีจำนวนประชากร 160,823 คน พูดภาษาเตอร์กิค จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาเตอร์กิค มีภาษาเขียนที่พัฒนามาจากอักษรอาหรับ ชาวเคอร์กิสในซินเจียงใต้พูดภาษา Uyghur ชาวเคอร์กิสในซินเจียงเหนือเหนือพูดภาษา Kazakstan ส่วนกลุ่มที่อยู่ในเฮยหลงเจียงพูดภาษามองโกล และภาษาฮั่น คำว่า เคอร์กิส แปลว่า อมตะ หรือ ไม่สูญสลาย ชาวเคอร์กิสส่วนมากเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนหนี่ แต่บางส่วนก็นับถือศาสนาพุทธแบบทิเบต



34. กลุ่มชาติพันธุ์ต๋าโว่ร์ ต้นกำเนิดของชาวต๋าโว่ร์ยังไม่มีหลักฐานใดยืนยันและสรุปแน่ชัด แต่มีสองประเด็นที่นักประวัติศาสตร์มีความเห็นว่าน่าเชื่อถือ คือ หนึ่งเป็นชาวพื้นเมืองที่อยู่ติดแผ่นดินมาตั้งแต่อดีตกาลมีถิ่นฐานอยู่ติดแผ่นดินในบริเวณลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียงไปจนจรดลุ่มแม่น้ำฉีหลี่ และสองคือการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อการค้าที่พัฒนามาจากขบวนคาราวานค้าขายที่เข้ามาสู่ประเทศจีนในสมัยราชวงศ์เหลียว มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวชี่ตาน ปัจจุบันชาวต๋าโว่ร์มีถิ่นที่อยู่ในเขตปกครองตนเองชื่อ Morin Dawa Daur ในเขตมองโกเลียใน กลุ่มปกครองตนเองเอ้อเหวินเค่อ กลุ่มปกครองตนเองกลุ่มปู้เทอฮา กลุ่มปกครองตนเองกลุ่มอาหรง มีส่วนน้อยกระจายอยู่บริเวณเมืองและอำเภอต่าง ๆ ในมณฑลเฮยหลงเจียง และซินเจียง มีจำนวนประชากร 132,394 คน พูดภาษาต๋าโว่ร์ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขามองโกล ไม่มีตัวหนังสือเป็นของตนเอง ใช้อักษรภาษาจีน มีบางกลุ่มใช้ภาษาแมนจูภาษามองโกลและภาษาคาซัค



35. กลุ่มชาติพันธุ์จิ่งโป บรรพบุรุษของชาวจิ่งโปอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของบริเวณที่ราบสูงคังจั้ง ต่อมาอพยพลงใต้ไปตั้งถิ่นฐานที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหยุนหนาน และทางตะวันตกของแม่น้ำนู่ ปัจจุบันอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าจิ่งโปเมืองเต๋อหง มณฑลหยุนหนาน ในบริเวณที่เป็นหุบเขา เช่นเขตตำบลลู่ซี ลุ่ยลี่ หล่งชวน อิ๋งหง และตำบลเหลียงเหอ บ้านเพี่ยนหม่า กู่ลั่ง กั่งฝาง ในเขตปกครองตนเองนู่เจียงเผ่าลีซู มีจำนวนประชากร 132,143 คน พูดภาษาจิ่งโพ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาจิ่งโป นอกจากนี้บางกลุ่มพูดภาษาไจวา จัดอยู่ในสาขาภาษาพม่า มีภาษาเขียนที่พัฒนาขึ้นภายหลังโดยใช้ตัวอักษรโรมัน ชาวจิ่งโปนับถือศาสนาพุทธ ร่วมกับการนับถือผีและบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์



36. กลุ่มชาติพันธุ์เหมาหนาน ชาวเหมาหนานพัฒนาแตกสาขามาจากชนร้อยเผ่าที่เรียกชื่อว่า ไป่เยว่ ยุคก่อนราชวงศ์ถังคือ พวกเหลียว ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน และหมิง คือ พวกหลิง ชนเผ่าเหล่านี้นี่เองคือบรรพบุรุษยุคแรก ๆ ของชาวเหมาหนาน ศูนย์กลางที่มีชนเผ่าเหมาหนานอาศัยอยู่คือ ภูเขาเหมาหนาน ทางใต้ของตำบลหวนเจียง นอกจากนี้ยังมีส่วนน้อยกระจายอาศัยอยู่ในตำบลหนานตัน และตูอัน มีจำนวนประชากร 10,716 คน พูดภาษาเหมาหนาน จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาจ้วง-ต้ง แขนงภาษาต้ง-สุ่ย ไม่มีภาษาอักษร ชาวเหมาหนานอาศัยอยู่ร่วมกับชาวจ้วงชาวฮั่นมาเป็นเวลานาน ส่วนมากพูดภาษาจ้วงและภาษาจีนได้ใช้อักษรจีน สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับชาวเหมานานก็คือ กว่า 80% ของชาวเหมานานมีนามสกุลเดียวกัน คือ นามสกุลถัน (Tan) ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากชาวหูหนานกลุ่มหนึ่งได้มาอพยพมาแต่งงานกับหญิงชาวเหมานาน และนอกจากนี้หมู่บ้านของชาวเหมานานไม่มีหมู่บ้านไหนที่มีประชากรเกิน 100 คนเลย



37. กลุ่มชาติพันธุ์ซาลาร์ นักประวัติศาสตร์จีนเชื่อว่าชาวซาลาร์สืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าซาลูร์ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณชุมชน Turkic Ugus ในสมัยโบราณ แต่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตปกครองของราชสำนักถัง ต่อมาย้ายเข้าสู่ภาคกลาง ในสมัยราชวงศ์หยวนอพยพเข้าสู่ดินแดนที่เป็นประเทศจีนปัจจุบัน ปัจจุบันชนเผ่าซาลาร์ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่บริเวณชายแดนของที่ราบสูงทิเบต บริเวณกลุ่มปกครองตนเองเผ่าซาลาร์อำภอสวินฮว่า และอำเภอปกครองตนเองใกล้เคียงคือ เขตปกครองตนเองเผ่าหุย กลุ่มปกครองตนเองเผ่าป่าวอานเผ่าซาลาร์ อำเภอสือซาน เขตปกครองตนเองเวยอูร์ซินเจียง นอกจากนี้ในเมืองอูรุมชี ของมณฑลกานซู่ ก็มีชาวเผ่าซาลาร์กระจายตั้งถิ่นฐานอยู่จำนวนหนึ่ง มีจำนวนประชากร 104,503 คน พูดภาษาซาลาร์ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาเทอกิค แขนงภาษา Hsiung-Nu;Hun ไม่มีภาษาเขียน ส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีนและภาษาทิเบต ชาวซาลาร์เป็นชาวมุสลิมและแต่งกายเหมือนกับชาวมุสลิมอื่นๆ ตามกฎของศาสนา



38. กลุ่มชาติพันธุ์ปลัง ภาษาจีนออกเสียงคำว่าปลังว่า ปู้หล่าง ชาวปลังสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าโบราณที่ชาวฮั่นเรียกว่า ชาวผู หรือ ผูหม่าน ส่วนชาวไตเรียกว่า ปะหล่อง อาศัยอยู่บริเวณตำบลเหมิงไห่ ตำบลจิ่งหง ของเขตปกครองตนเองเผ่าไตสิบสองปันนาในมณฑลหยุนหนาน และบริเวณตำบลซวงเจียง ตำบลหย่งเต๋อ ตำบลบลหยุน ตำบลเกิ๋งหม่า ของเมืองหลินชาง และบางส่วนอาศัยอยู่บริเวณตำบลหลันชาง ตำบลโม่เจียง ของเมืองซือเหมา มีจำนวนประชากร 91,882 คน ภาษาที่ใช้คือภาษาปลัง จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร แขนงว้าปะหล่อง มีสำเนียงภาษา 2 สำเนียงคือภาษาปลังกับภาษาอัลวา มีประชากรบางส่วนสามารถพูดภาษาไต ภาษาว้า และภาษาฮั่น (ภาษาจีน) ไม่มีตัวอักษรเป็นของตนเอง ใช้อักษรภาษาไตและอักษรจีน ชาวปลังนับถือผีร่วมกับศาสนาพุทธนิกายเถรวาท



39. กลุ่มชาติพันธุ์ทาจิค คำว่า ทาจิค เป็นคำที่ชนเผ่านี้เรียกตนเอง ความหมายดั้งเดิมคือ กษัตริย์ ชนกลุ่มนี้มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนสมัยคริสตกาล โดยกลุ่มชนตะวันออกกลางที่พูดภาษาอิหร่าน ได้มีการติดต่อสัมพันธ์และเดินทางไปมาหาสู่กับผู้คนในดินแดนประเทศจีนในเขตมณฑลซินเจียงตามเส้นทางสายไหม บรรพบุรุษของชาวทาจิคจึงเป็นกลุ่มชนที่ถูกหลอมรวมด้วยวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก ต่อมาพัฒนาการมาเป็นอารยธรรมของตนเอง แม้ว่าจะถูกเรียกว่าชาวทาจิคแต่ชาวทาจิคในจีนก็พูดภาษาอีกภาษาหนึ่งต่างหากจาชาวทาจิคในทาจิกิสถาน ชาวทาจิคในจีนมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ปาริมี (parimi) ซึ่งประกอบด้วย 3 เผ่าที่พูดภาษา Sarikoli, Shugni และ Wakhi ปัจจุบันชาวทาจิคมีถิ่นอาศัยอยู่ที่กลุ่มปกครองตนเองทาจิค ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเวยอูร์ ตำบลทาซคูร์ฮัน มณฑลซินเจียง นอกจากนี้ยังมีกระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ อีกคือ ซาเชอ เจ๋อผู่ เย่เฉิง และผีซาน มีจำนวนประชากร 41,028 คน พูดภาษาภาษาทาจิค จัดอยู่ในตระกูลภาษาอินยุโรเปียน สาขาภาษาอิหร่าน แขนงภาษาพามีรี ใช้อักษรภาษาอุยกูร์ ชาวทาจิคนับถือศาสนาอิสลาม



40. กลุ่มชาติพันธุ์อาชาง ในยุคราชวงศ์ชิงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ชาวเอ๋อชาง ในพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ชาวเอ๋อชางมีหัวหน้าเผ่าชื่อ จ่าวข่าย ปกครองเรื่อยมาจนถึงปลายสมัยราชวงศ์หยวนสืบทอดชาวเอ๋อชางรวม 35 รุ่น กระทั่งศตวรรษที่ 10 ถูกชาวป๋ายและชาวฮั่นรุกรานจึงได้ย้ายหนีไปอยู่ที่อื่น สายหนึ่งย้ายไปที่เมืองเถิงชง อีกสายหนึ่งกระจัดกระจายอาศัยอยู่รวมกับชาวป๋ายและชาวฮั่น ปัจจุบันชาวอาชางอาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองชนกลุ่มน้อยเผ่าไตและชนกลุ่มน้อยเผ่าจิ่งโป ในตำบลหลงชวน ตำบลเหลียงเหอ เมืองเต๋อหง มณฑลหยุนหนาน นอกจากนี้ยังมีกระจัดกระจายอยู่ที่หมู่บ้านอิ๋งเจียง ลู่ซี ลุ่ยลี่ ป่าวซาน ของตำบลหลงหลิง และเถิงชง ชนกลุ่มน้อยเผ่าอาชางมีจำนวนประชากร 33,936 คน พูดภาษาอาชาง จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบตสาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาพม่า มีสำเนียงภาษาย่อย 3 สำเนียงคือ สำเนียงเหลียงเหอ สำเนียงหล่งชวน และสำเนียงลู่ซี ไม่มีตัวหนังสือใช้ ใช้อักษรจีนและอักษรไต ชาวอาชางนับถือศาสนาพุทธเถรวาท ลัทธิเต๋าร่วมกับการนับถือผีและบรรพบุรุษ



41. กลุ่มชาติพันธุ์ผูหมี่ เดิมเป็นกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่ราบสูงทิเบต ต่อมาอพยพจากบริเวณที่หนาวเย็นลงไปตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบพื้นดินที่มีอากาศอบอุ่นกว่า ประมาณเวลาอยู่ในยุคก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 7 แล้วตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่เป็นเขตมณฑลเสฉวน ปัจจุบันชนเผ่าผูหมี่ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อำเภอหลานผิง ลี่เจียง เหวยซี หย่งเซิ่ง และเขตปกครองตนเองเผ่าอี๋ อำเภอหนิงลั่ง นอกจากนี้ยังมีบางส่วนอาศัยอยู่อำเภอเหยียนหยวน และเขตปกครองตนเองทิเบต อำเภอมู่หลี่ มณฑลเสฉวน มีจำนวนประชากร 33,600 คน พูดภาษาภาษาผูหมี่ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า ชาวผูหมี่ที่อำเภอหนิงลั่ง เคยใช้ภาษาเขียนของภาษาทิเบต แต่ไม่เป็นที่นิยม ปัจจุบันใช้ภาษาจีน ชาวผูหมี่นับถือศาสนาพุทธนิกายตันตระแบบทิเบต



42. กลุ่มชาติพันธุ์เอ้อเหวินเค่อ บรรพบุรุษชาวเอ้อเหวินเค่อมีอารยธรรมยาวนานประมาณ 2000 ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลสาบ Baikal ในอดีตชนเผ่าเอ้อเหวินเค่ออาศัยอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของจีน และมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น ซัวหลุน ตุนกุส ยาคุท ในปี ค..1957 ชนกลุ่มนี้ยอมรับตัวเองในชื่อ เอ้อเหวินเค่อ และใช้เรียกชนเผ่าของตนที่กระจายอยู่ในทุกที่ด้วยชื่อเดียวกันนี้ คำนี้มีความหมายว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหุบเขาใหญ่ ปัจจุบันอาศัยอยู่ในกลุ่มปกครองตนเองเผ่าเอ้อเหวินเค่อ เมืองฮูลุนเปอร์มอง และในบริเวณกลุ่มปกครองตนเองกลุ่มเฉินปาร์ฮูกลุ่มปูเทอฮา กลุ่มอาหรง กลุ่มเออร์กูนาจัว กลุ่มโมลีตาวาร์ กลุ่มปกครองตนเองเผ่าต๋าโว่ร์ และบริเวณเขตปกครองตนเองเผ่าเอ๋อหลุนชุนในมณฑลเฮยหลงเจียง มีจำนวนประชากร  30,505 คน พูดภาษาเอ้อเหวินเค่อ จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาหม่าน-ตุนกุส แขนงภาษาตุนกุส มีสำเนียงภาษาที่แตกต่างกัน 3 สำเนียงคือ ไฮลาร์เชนปาร์ฮูและอาวลูกูยา ไม่มีตัวหนังสือใช้ ชาวเอ้อเหวินเค่อมีความเชี่ยวชาญในการล่าสัตว์ ตกปลา และหาของป่า 



43. กลุ่มชาติพันธุ์นู่ เป็นชนเผ่าเก่าแก่ที่อาศัยติดแผ่นดินสองฝั่งแม่น้ำนู่และแม่น้ำหลานชางมาแต่โบราณกาล มีพัฒนาการมาจากชนเผ่าหลูลู่หมาน ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมในยุคราชวงศ์ถังที่อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นเมืองฝูก้งและเมืองก้งซานของมณฑลหยุนหนาน ปัจจุบันชาวเผ่านู่ส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ใน 3 อำเภอของมณฑลหยุนหนานได้แก่ ปี้เจียง ฝูก้ง ก้งซาน มีจำนวนประชากร 28,759 คน พูดภาษานู่ จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า ภาษานู่ต่างสำเนียงในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันมาก ผู้คนที่อาศัยอยู่ต่างอำเภอกัน ไม่สามารถใช้ภาษานู่ที่ต่างสำเนียงกันสื่อสารกันเข้าใจได้ไม่มีตัวหนังสือใช้ส่วนใหญ่ใช้อักษรจีน ชาวนู่นับถือศาสนาพุทธนิกายตันตระแบบทิเบตร่วมกับการนับถือผีในธรรมชาติ



44. กลุ่มชาติพันธุ์จิง ชาวจิงอพยพมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศเวียดนามเมื่อคริสตศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะจากบริเวณหุบเขาถู เรียกตัวเองว่า จิง มาแต่ครั้งอดีต แต่คนภายนอกเรียกชนกลุ่มนี้ว่า เยว่ จนปี ค.ศ.1958 จึงใช้ชื่อ จิง เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันชาวจิงอาศัยอยู่กลางหุบเขาอำเภอเจียงผิง ตำบลลี่เหว่ย อูโถว เหิงวั่ง ถันจี๋ หงขั่น จู๋ซาน ในเขตปกครองตนเองเผ่าจ้วงของมณฑลกว่างซี มีจำนวนประชากร 22,517 คน พูดภาษาจิง ภาษานี้เหมือนกับภาษาเวียดนาม แต่ชาวจิงส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้ภาษาจีน อักษรจีน และนอกจากนี้ชาวจิงยังพูดภาษากวางตุ้งและแมนดารินเพื่อการติดต่อสื่อสารและการค้า



45. กลุ่มชาติพันธุ์จีโน จีโนเป็นคำเรียกที่ชนเผ่านี้เรียกตัวเอง หมู่บ้านชาวจีโนเดิมเรียกว่า เขาจีโน พงศาวดารราชวงศ์ชิงเรียกชุมชนชาวจีโนว่า โยวเล่อซาน เอกสารบันทึกภาษาจีนที่เกี่ยวข้องกับชาวจีโนที่เก่าแก่ที่สุดสามารถสืบค้นได้คือในสมัยศตวรรษที่ 18 คือช่วงปลายสมัยราชวงศ์หมิงต่อไปถึงต้นสมัยราชวงศ์ชิง คำว่า จีโน มีความหมายว่า ทายาทของลุง หรือ ชนเผ่าที่เคารพลุง ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านจีโน ในเขตปกครองตนเองเผ่าไตสิบสองปันนาของมณฑลหยุนหนาน มีจำนวนประชากร 20,899 คน พูดภาษาจีโน จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แขนงภาษาอี๋ ไม่มีตัวหนังสือใช้ ชาวจีโนนับถือผีในธรรมชาติและศาสนาพุทธ



46. กลุ่มชาติพันธุ์เต๋ออ๋าง ในอดีตตั้งแต่ยุคราชวงศ์ฮั่นและจิ้น มีบันทึกถึงชาวผูเหริน ชาวหมางหมาน ชาวพูจื่อหมาน ชาววั่งจวีจื่อหมาน ชื่อชนเผ่าเหล่านี้ล้วนเป็นชนกลุ่มเดียวกันที่มีชื่อต่าง ๆ กัน ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวเต๋ออ๋าง ว้า และชาวปลังในปัจจุบัน ชาวเต๋ออ๋างอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจาย ในเขตปกครองตนเองเผ่าไตเผ่าจิ่งโปเมืองเต๋อหง มณฑลหยุนหนาน ในเขตตำบลเจิ้นคัง เกิ๋งหม่า หย่งเต๋อ ป่าวซาน หลานชาง รวมบริเวณที่อยู่อาศัยของชนเผ่านี้กระจายครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางกิโลเมตร นับเป็นชนเผ่าที่มีการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายมาก มักอยู่ร่วมกับชนเผ่าจิ่งโป เผ่าว้าและชาวฮั่น มีจำนวนนวนประชากร 17,935 คน พูดภาษาเต๋ออ๋าง จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค สาขามอญ-เขมร แขนงภาษาว้า-เต๋อ แบ่งเป็น 3 สำเนียง คือ ปูเลย ลูมาย ลัวจิน ไม่มีตัวหนังสือใช้ ชาวเต๋ออ๋างนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท



47. กลุ่มชาติพันธุ์ป่าวอาน เป็นชนเผ่าเชื้อสายมองโกลที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้รับอิทธิพลจากชนเผ่าอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง แล้วสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตนขึ้นมา แต่ก็มีบางกระแสเชื่อว่าชาวป่าวอานคือชาว หุยหุย ที่แต่เดิมอาศัยอยู่บริเวณมณฑลเสฉวนและส่านซี อพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งบ้านเรือนเลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้าชายฝั่งแม่น้ำหลงอู้ และมีปฏิสัมพันธ์แต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์กับพวกเผ่าตงเซียง เผ่าซาลา เผ่าทิเบต แล้วค่อย ๆ เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนก่อตั้งขึ้นเป็นเผ่าป่าวอาน ปัจจุบัน ชาวป่าวอานมีถิ่นฐานอยู่ที่เขตปกครองตนเองเผ่าป่าวอาน เผ่าตงเซียง เผ่าซาลา ตั้งอยู่ในหุบเขาจีสือ และมีบางส่วนอาศัยอยู่ในตำบลต่าง ๆ ในเขตปกครองตนเองเผ่าหุย และตำบลสวินฮว่า ของมณฑลชิงไห่ มีจำนวนประชากร 16,505 คน พูดภาษาป่าวอาน จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษามองโกล



48. กลุ่มชาติพันธุ์รัสเซีย ในสมัยราชวงศ์ชิงซึ่งตรงกับยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองของชาติรัสเซีย ชาวรัสเซียที่เดิมเป็นประชาชนในการปกครองของกษัตริย์ซาร์อพยพลี้ภัยมาตั้งถิ่นฐานบริเวณชายแดนจีน-รัสเซีย และเริ่มเข้ามามากในปี ค.ศ.1897 ที่เป็นปีเริ่มสร้างทางรถไฟสายตะวันออกไกล และหลังจากการปฎิวัติในรัสเซีย โดยทางการจีนได้จัดให้อยู่ภายใต้การปกครองของมณฑลซินเจียง ขณะนั้นชาวจีนเรียกชาวรัสเซียที่อพยพเข้ามานี้ว่า พวกโอนสัญชาติ และเรียกชุมชนที่ตั้งชาวเผ่ารัสเซียนนี้ว่า ชุมชนโอนสัญชาติ แต่หลังจากการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวรัสเซียส่วนมากก็อพยพออกนอกประเทศไปยังออสเตรเลีย เอเชียอาคเนย์ และกลับรัซเซีย เหลือเพียงประชากรกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น รัฐบาลจึงนับประชากรกลุ่มนี้เป็นชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งของจีนเรียกชื่อว่า ชนเผ่ารัสเซีย ปัจจุบันชาวรัสเซีย อาศัยอยู่ในบริเวณเมือง อีหลี ถ่าเฉิง อาเล่อไท่ อูรุมชี ในเขตปกครองตนเองเวยอูร์ มีจำนวนประชากร 15,609 คน พูดภาษารัสเซีย จัดอยู่ในตระกูลภาษาอินโดยุโรเปียน สาขาภาษาสลาฟ ตัวหนังสือที่ใช้คือตัวหนังสือที่ใช้ในภาษารัสเซีย ที่เรียกว่า ตัวอักษรซีริลริค ชาวรัสเซียนับถือศาสนาคริสท์นิกายออโทดอกซ์



49. กลุ่มชาติพันธุ์ยวี่กูร์ บรรพบุรุษของชาวยวี่กูร์คือกลุ่มชนเมื่อราว 3-4 ร้อยปีก่อนคริสตกาลที่อาศัยอยู่ในชุมชนติงหลิง เถี่ยเล่อ บริเวณลุ่มน้ำเส้อหลัวเก๋อ และลุ่มน้ำเอ้อร์ฮุน ชนกลุ่มนี้มีชื่อว่า หุยเหอ ต่อมาถูกรุกรานจากพวกประเทศข่าน จนอพยพกระจัดกระจายออกไปรอบทิศทาง ในจำนวนนี้มีกลุ่มหนึ่งอพยพไปทางตะวันตกตลอดริมแนวแม่น้ำเหอซีอาศัยอยู่ร่วมกันกับชาวหุยเหอที่อพยพมาก่อนหน้านั้น แล้วสืบทอดเผ่าพันธุ์ชาวยวี่กูร์มาจนปัจจุบัน ปัจจุบันชาวยวี่กูร์กว่า 90% รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เขตปกครองตนเองเผ่ายวี่กูร์ เมืองซู่หนาน มณฑลกานซู่ ชาวยวี่กูร์เรียกตัวเองว่า เหยาฮูร์ มีจำนวนประชากร 13,719 คน มีภาษาพูด 3 ภาษาได้แก่ ชาวยวี่กูร์ ประมาณ 4,600 คนที่อาศัยอยู่บริเวณทิศตะวันตกของเขตปกครองตนเองเผ่ายวี่กูร์เมืองซู่หนาน มณฑลกานซู่ พูดภาษายวี่กูร์ตะวันตก จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาเตอร์จิค สองคือ ชาวยวี่กูร์ ประมาณ 2,800 คนที่อาศัยอยู่บริเวณตะวันออกเขตปกครองตนเองเผ่ายวี่กูร์เมืองซู่หนาน พูดภาษายวี่กูร์ตะวันออก จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขามองโกล ส่วนกลุ่มที่นอกเหนือจากนี้ใช้ภาษาจีน ไม่มีภาษาเขียน ส่วนใหญ่ใช้อักษรภาษาจีน ชาวยวี่กูร์นับถือศาสนาพุทธนิกายตันตระแบบทิเบต



50. กลุ่มชาติพันธุ์อุสเบค ในช่วงปี ค.ศ.1312–1341 อูสเบคข่านของประเทศชินฉาข่าน ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามได้รวบรวมเมือง ข่าน ใหญ่น้อยที่อยู่กระจัดกระจายรายรอบเข้ามาเป็นอาณาเขต และตั้งชื่อประเทศใหม่ว่าประเทศอุสเบคข่าน ส่วนประชาชนในประเทศนี้เรียกชื่อว่า ชาวอุสเบค เป็นต้นกำเนิดของชาวอุสเบค ชาวอุสเบคเริ่มเข้ามาในจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน พ่อค้าชาวอุซเบกเดินทางจากเอเชียกลางมายังซินเกียงตามเส้นทางสายไหมเพื่อมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า อาทิ ผ้าไหม ใบชา เครื่องกระเบื้อง ขนสัตว์ ต่อจากนั้นก็ได้ตั้งถิ่นฐานตามแนวเส้นทางสายไหม ปัจจุบันชาวอุสเบคอาศัยอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ของเขตปกครองตนเองอุยกูร์ มณฑลซินเจียง เช่น อีหนิง ถ่าเฉิง คาสือ อูรุมชี ซาเชอ เย่เฉิง เป็นต้น มีจำนวนประชากร 12,370 คน พูดภาษาอุสเบค จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาเตอร์จิค แขนงภาษาซฺยงหนู-ฮั่น ภาษาอักษรใช้ภาษาอุยกูร์ ชาวอุสเบคนับถือศาสนาอิสลาม



51. กลุ่มชาติพันธุ์เหมินปา ศิลาจารึกเมื่อปี ค.ศ. 823 ของวัดเจาซื่อ ที่สร้างอยู่ในลาซ่า เขตปกครองตนเองทิเบต กล่าวว่า ชาวมอญร่วมกับชนเผ่าต่าง ๆ แย่งชิงบรรณาการกับราชสำนักถู่ฟาน ชนชาวมอญที่กล่าวถึงในที่นี้มีชาวเหมินปารวมอยู่ด้วย ปัจจุบันชนเผ่าเหมินปามีถิ่นฐานอยู่ในเมืองเหมินหยวี บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของเขตปกครองตนเองทิเบต กลางศตวรรษที่ 19 มีชาวเหมินปาบางส่วนหลบหนีจากการถูกกดขี่ใช้แรงงานทาสของชาวทิเบต อพยพหลบหนีไปทางตะวันออกและตั้งถิ่นฐานที่เมืองโม่ทัว ชนกลุ่มน้อยเผ่าเหมินปา มีจำนวนประชากร 8,923คน พูดภาษาเหมินปา จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาทิเบต-พม่า แขนงภาษาทิเบต ไม่มีภาษาเขียน ใช้อักษรทิเบต



52. กลุ่มชาติพันธุ์เอ้อหลุนชุน บรรพบุรุษของชาวเอ้อหลุนชุน คือ ซื่อเหว่ย หมายถึง ชนชาวป่า ถึงสมัยราชวงศ์หยวนเรียกชื่อชนเผ่านี้ว่า ประชาชนชาวป่า ในสมัยราชวงศ์หมิงเรียกชื่อว่า ชาวป่าภูเหนือ ส่วนชื่อเรียกชนเผ่า เอ้อหลุนชุนพบครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ชิงตอนต้นว่า เอ๋อเอ่อทุน สมัยจักรพรรดิคังซีเรียกชื่อว่า เอ๋อหลัวชุน จากนั้นจึงใช้เรียกกันอย่างแพร่หลาย คำว่า เอ้อหลุนชุน มีสองความหมายคือ ชนเผ่าฝึกม้า และอีกความหมายหนึ่งหมายถึงชนชาวเขา อาศัยอยู่บริเวณกลุ่มปกครองตนเองเมืองฮูหลุนเปอร์เหมิง กลุ่มเอ้อหลุนชุน กลุ่มปกครองตนเองเมืองปูเทอฮา กลุ่มปกครองตนเองเมืองโมลีตาวา กลุ่มต๋าโว่ ในบริเวณเขตปกครองตนเองของมองโกเลียใน นอกจากนี้ยังมีบางส่วนกระจายอยู่บริเวณตำบลต่าง ๆ ในมณฑลเฮยหลงเจียง มีจำนวนประชากร 8,196 คน พูดภาษาที่ชื่อเอ้อหลุนชุน จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาหม่าน-ตุนกุส ไม่มีตัวหนังสือใช้ ส่วนใหญ่ใช้อักษรจีน และมีบางส่วนใช้อักษรมองโกล



53. กลุ่มชาติพันธุ์ตรุง หรือ เตอรุง เอกสารที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงชาวตรุงคือ บันทึกในสมัยราชวงศ์หยวน กล่าวถึงชาวตรุงในชื่อ เชี่ยว ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงเรียกชนกลุ่มนี้ว่า ฉิว หรือ ฉวี่ ในสมัยราชวงศ์ถังและซ่งอยู่ใต้การปกครองของน่านเจ้า และต้าหลี่ ปัจจุบันชาวเผ่าตรุงอาศัยอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำตรุง ซึ่งเป็นเขตติดต่อกันของเขตปกครองตนเองนู่เจียงและอำเภอปกครองตนเองก้งซาน ของมณฑลหยุนหนาน มีจำนวนประชากร 7,426 คน พูดภาษาตรุง จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า ภาษาของชนเผ่าตรุงทั้งสองบริเวณไม่แตกต่างกัน ไม่มีภาษาอักษรเป็นของตนเอง ชาวตรุงอยู่กันเป็นเผ่า มีจำนวนทั้งสิ้น 15 เผ่า ชาวตรุงนับถือผีในธรรมชาติและบางส่วนเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์



54. กลุ่มชาติพันธุ์ทาทาร์ บรรพบุรุษเริ่มแรกของชาวทาทาร์คือ ชนพื้นเมืองของประเทศชินฉาข่าน ชื่อภาษาอังกฤษว่า Golden Horde ต่อมาศตวรรษที่ 15 ประเทศชินฉาข่านล่มสลาย ประเทศคาซานข่านได้ก่อตั้งขึ้นโดยมีชาวปูลีอาร์เป็นชนกลุ่มหลักประจำชาติ รวมไปถึงชาวมองโกลที่พูดภาษาในกลุ่มภาษาเทอจิคก็เป็นพลเมืองของประเทศคาซานข่านนี้ บรรพบุรุษเริ่มแรกของชาวทาทาร์ก็เริ่มก่อกำเนิดเป็นชุมชนที่ชัดเจนขึ้นในช่วงนี้ ปัจจุบันชาวทาทาร์อาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเวยอูร์ของมณฑลซินเจียง บริเวณที่รวมตัวกันอยู่ค่อนข้างมากคือ เมืองอีหนิง ถ่าเฉิง อูรุมชี นอกจากนี้ยังมีกระจายอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ที่เป็นเขตทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของมณฑลซินเจียง เช่น ฉีถาย จีมูซาร์ อาเล่อไท่ ชนเผ่าทาทาร์มีจำนวนประชากร 4,890 คน (ยังมีชาวทาทาร์อีกกว่า 10,000,000 คนในมองโกเลียไปจนถึงยุโรปและเอเชียกลาง) ส่วนมากพูดภาษาทาทาร์และภาษารัสเซีย ภาษาทาทาร์จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาภาษาเตอร์กิค แขนงภาษาซฺยงหนู-ฮั่น ชาวทาทาร์นับถือศาสนาต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่เช่นในรัสเซียจะนับถือศาสนาคริสต์ออโทดอกซ์ และในเอเชียกลางนับถือศาสนาอิสลาม



55. กลุ่มชาติพันธุ์เฮอเจิน ชนเผ่าเฮอเจิน เป็นเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมาแต่อดีต เป็นชนเผ่าโบราณที่รับเอาวัฒนธรรมของชนเผ่าอื่น เช่น เอ้อหลุนชุน เอ้อเหวินเค่อ แมนจู มองโกล และชาวฮั่น ผสมผสานหลอมรวมเกิดเป็นกลุ่มชนที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง โดยเริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งมั่นคงในตอนต้นสมัยราชวงศ์ชิง ปัจจุบันอาศัยอยู่บริเวณตำบลถงเจียง หราวเหอ ฝูหย่วน ของมณฑลเฮยหลงเจียง มีบางส่วนกระจายอาศัยอยู่บริเวณตำบลฮั่วชวน อีหลาน ฟู่หราว มีชื่อเรียกตัวเองแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ เช่น น่าเป้ย น่าไหน่ น่าหนีเอ้า ชนกลุ่มน้อยเผ่าเฮอเจินมีจำนวนประชากร 4,640 คน พูดภาษาเฮอเจิน จัดอยู่ในตระกูลภาษาอัลไต สาขาหม่าน-ตุนกุส แขนงภาษาหม่าน ไม่มีตัวหนังสือใช้ ชนเผ่าขาดการสืบทอด ปัจจุบันผสมผสานเป็นชาวฮั่นแล้ว



56. กลุ่มชาติพันธุ์โลปา เป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่บริเวณถ่าปู้กงปู้ ของที่ราบสูงทิเบต ตามแนวสันเขาป่ายหม่า บริเวณเทือกเขาหิมาลัย และทุ่งหญ้าหนานโพ มาแต่ครั้งบรรพกาล ปัจจุบันมีถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองลั่วหยวี ที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเขตปกครองตนเองทิเบต และบริเวณรอยต่อกับมณฑลใกล้เคียง เช่น ตำบลฉาหยวี โม่ทัว หมี่หลิน หลงจื่อ เป็นต้น มีจำนวนประชากร 2,965 คน ชาวโลปาที่อาศัยอยู่ตำบลโม่ทัวใช้ภาษาทิเบต นอกนั้นพูดภาษาภาษาโลปา จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบต สาขาภาษาทิเบต-พม่า มีหลายสำเนียงแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และหาของป่า


*จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี ค.ศ.2000*

แสดงความคิดเห็น

1 ความคิดเห็น

  1. 16. ชาติพันธุ์ฮาหนี รู้จักนอกประเทศจีน ว่า "อาข่า" คนไต ลาว ในอดีตเรียก "อีก้อ" "ก้อ" ปัจจุบันมีประชาชนกรมากว่า 3 ล้านคน กระจายอยู่ 5 ประเทศ 7 ชายแดน จีน พม่า ลาว ไทย เวียดนาม

    ตอบลบ