ทำความรู้จักกับกองกำลังกะฉิ่นอิสระ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1886 อังกฤษได้เข้ายึดครองเขตพม่าแท้ (Proper Burma) อย่างสมบูรณ์ ส่วนเขตเทือกเขาบริเวณชายขอบ (Forntier Areas) ยังมีการต่อต้าน และการต่อต้านของชาวกะฉิ่นที่ไม่ยอมจำนนต่อทหารอังกฤษ มีการบันทึกเหตุการณ์การสู้รบใหญ่ ๆ ดังนี้

เมื่อเดือนมกราคม 1888 ทหารอังกฤษ 176 นาย พร้อมปืนใหญ่ 2 กระบอก เดินทัพเข้ายึดพื้นที่เหมืองหยกในเมืองกอง (Mokong) นอกจากนั้นยังได้วางแผนจะแต่งตั้ง อู กะ ลา (U Ka La) ซึ่งยอมต่ออำนาจของอังกฤษให้เป็นเจ้าเมือง แต่ชาวกะฉิ่นได้ชิงจับตัว อู กะ ลา (U Ka La) ไปสังหารเสีย ต่อมาในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ลูกชายของ อู กะ ลา (U ka La)  ที่ชื่อ อู โพ ซอ (U Poe Saw) ได้นำชาวกะฉิ่นและชาวไต ราว 400 คน ต่อสู้ทหารอังกฤษ และสามารถยึดเมืองกอง (Mokong)  คืนกลับมาได้สำเร็จ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1889 ผู้นำชาวกะฉิ่น ชื่อ ดูวา ปงกัน (Duwa Hpungun) คำ แลง (Hkam Leng) และ ซอ หยั่น ไหน่ (Saw Yan Naing) ได้รวบรวมผู้คนจากป่าเขา มาต่อสู้เพื่อยึดเมืองบะหม่อ (Bhamo) คืน และได้ปะทะกับกองทหารอังกฤษ 50 นาย ที่ตำบลสี่ยู่ ห่างจากตัวเมืองบะหม่อ (Bhamo) ไปราว 20 ไมล์ ทำให้กองทหารอังกฤษเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 2 นาย ฝ่ายอังกฤษมีการเสริมกองทหารมาอีก 210 นาย จนกระทั่งยึดตำบลสี่ยู่ได้ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน กองกำลังกะฉิ่นซึ่งนำโดย ลอย แซง (Loi Seng) และ ตุง ฮุง (Tung Hung) เข้าโจมตีพยายามยึดเมืองบะหม่อ (Bhamo) คืน จนกระทั่งฝ่ายอังกฤษต้องสูญเสียกำลังพลไปอีก 20 นาย ในที่สุดนายพลการ์เน็ท วูลซลีย์ (Garnett Wolsey) ได้นำกองทัพที่ประกอบไปด้วยทหารอังกฤษ 250 นาย ทหารกูรข่า 100 นาย และทหารอื่น ๆ อีก 250 นาย มาปิดล้อมฐานที่มั่นของผู้นำชาวกะฉิ่น เมื่อไม่พบก็เผาทำลายหมู่บ้าน 179 หลังคาเรือน และเผาข้าวสาร 50 กระสอบทิ้งเสีย แล้วเข้ายึดเมืองบะหม่อ (Bhamo)ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ในขณะที่ผู้นำชาวกะฉิ่นกับพรรคพวกได้หลบหนีไป และกลายเป็นบุคคลที่กองทัพอังกฤษต้องการตัวมากที่สุด

ในเดือนมกราคม 1889 กัปตัน โอ ดอนเนลล์ (Captain O'Donnell) ได้นำทหาร 371 นาย พร้อมด้วยปืนใหญ่ 2 กระบอก เข้าปราบปรามชาวกะฉิ่น และเข้ายึดเมืองกาไม (Kamaing) ได้ เจ้าเมืองชื่อ ดูวา กุม แซง ลี (Duwa Gum Seng Li) เป็นผู้นำการต่อสู้กับอังกฤษอย่างกล้าหาญ แม้ท้ายสุดจะพ่ายแพ้ พวกเขาก็ทำให้อังกฤษต้องสูญเสียกำลังพลไปถึง 21 นาย

หลังจากยึดเมืองบะหม่อ (Bhamo) และสยบการต่อต้านในพื้นที่นั้นได้แล้ว อังกฤษก็นำกำลังเข้ายึดเมืองมฺยิตจีนา (MyitKyina) ในวันที่ 28 ธันวาคม 1891 เมื่อกองทัพอังกฤษที่กำลังเดินทางไปทราบข่าวว่ามีกองกำลังกะฉิ่นซุ่มรอโจมตีอยู่ที่เขาซาดอน (Sadon) จึงบุกไปที่เขาแห่งนั้นเสียก่อน ตลอดเส้นทางทหารอังกฤษต้องเผชิญกับการต่อต้านเป็นระยะ ๆ เมื่อมาถึงเขาซาดอน (Sadon)  ดูวา ซาว ออง (Duwa Zau Awng) ผู้นำกะฉิ่น ได้เตรียมกำลังคนกว่า 500 คนจากหลายหมู่บ้านปิดล้อมเขาซาดอน (Sadon) การสู้รบระหว่างชาวกะฉิ่นกับทหารอังกฤษดำเนินไปอย่างดุเดือดและยืดเยื้อถึงสิ้นเดือนมีนาคม 1892 ฝ่ายอังกฤษได้กำลังพลจากเมืองมฺยิตจีนา (MyitKyina) เข้ามาเสริม กองกำลังกะฉิ่นจึงยอมล่าถอยไป อย่างไรก็ตาม กองทัพอังกฤษก็ได้สูญเสียทั้งกำลังทหาร รวมทั้งนายพันแฮริสัน (Harrison) ซึ่งเป็นผู้บังคับการ ต่อมาพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามโดยรัฐบาลอาณานิคมเพื่อระลึกถึงการสู้รบครั้งนี้ว่า ป้อมปราการแฮริสัน

หลังจากอังกฤษยึดเขาซาดอน (Sadon) อังกฤษก็ยกทัพไปที่เขาซาม่า (Sama) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเขาซาดอน (Sadon) ชาวกะฉิ่นได้รวบรวมกำลังคนไปต้านทานกองทัพของอังกฤษที่นำโดย กัปตันบอยซ์ มอร์ตัน  (Captain Boyz Morton) การสู้รบดำเนินอยู่ 9 วัน จนในที่สุดฝ่ายอังกฤษก็ยึดเขาซาม่า (Sama) เอาไว้ได้ ในระหว่างการสู้รบนั้น ดูวา ซาม่า (Duwa Sama) ได้รวบรวมผู้คนบุกเข้าไปเผาบ้านเรือนและสังหารนายทหารอังกฤษในเมืองมฺยิตจีนา (MyitKyina)  เพื่อก่อความระส่ำระสาย จากนั้นชาวกะฉิ่นก็ได้เข้าโจมตีทหารอังกฤษเพื่อจะยึดเขาซาม่า (Sama) กลับคืน การสู้รบครั้งหลังนี้ ได้ทำให้ฝ่ายอังกฤษต้องสูญเสียกัปตันบอยซ์ มอร์ตัน (Captain Boyz Morton)  และทหาร รวม 105 นาย แม้ว่าในที่สุดอังกฤษจะเป็นผู้ชนะในการสู้รบ หลังจากได้กำลังเสริมจากเมืองมฺยิตจีนา (MyitKyina) ราว 1,200 นายก็ตาม ต่อมารัฐบาลอาณานิคมจึงเรียกพื้นที่เขาซาม่า (Sama) นั้นว่า ป้อมปราการมอร์ตัน เพื่อเป็นการระลึกถึงการสู้รบครั้งนั้น

นั่นเป็นบันทึกเหตุการณ์การสู้รบครั้งประวัติศาสตร์ที่สำคัญระหว่างชาวกะฉิ่นกับอังกฤษ ซึ่งได้เข้ายึดครองพม่า และลงนามในสนธิสัญญาชายแดนระหว่างพม่ากับจีน ซึ่งหลังจากนั้นได้มีการทำแผนที่รวมดินแดนกะฉิ่น ให้เป็นรัฐในอาณานิคม เมื่อพม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ รัฐบาลพม่าจึงได้พยายามเข้าควบคุมกะฉิ่น เพื่อต้องการผนวกรัฐกะฉิ่นให้เป็นส่วนหนึ่งของพม่า





ก่อนจะมาเป็นกองทัพเอกราชกะฉิ่น (Kachin Independence Army: KIA) หรือทั่วไป เรียกว่า กะฉิ่นอิสระ

อดีตกองทหารปืนยาวกะฉิ่น (Kachin Rifles) ที่จัดตั้งโดยอังกฤษได้ร่วมกับกะเหรี่ยงก่อการกบฏต่อรัฐบาลพม่า โดยกองทหารกะฉิ่นภายใต้การนำของ หน่อ แซง (Naw Seng) รับผิดชอบก่อการทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1949 เมืองต่องจี ทางตอนใต้รัฐฉาน ได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกำลังผสมกะฉิ่น กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดงและปะโอโดยสิ้นเชิง จากชัยชนะครั้งนี้ทำให้ หน่อ แซง (Naw Seng) มั่นใจว่าถึงเวลาแล้วที่กะฉิ่นจะทำการปลดปล่อยเพื่อการปกครองตนเองบ้าง จึงได้ตั้งกองกำลังของตนเองขึ้นใช้ชื่อว่า กองกำลังป้องกันตนเองแห่งชาติปองยอง ในภาษาอังกฤษ ก็คือ Pawng Yawng National Defence Force (กะฉิ่น เรียกตนเองว่า ปองยอง หรือ หวุ่นปอง) อย่างไรก็ตามในระยะแรก ๆ ผู้นำชุมชนของกะฉิ่นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ หน่อ แซง (Naw Seng) ในการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ และในปีถัดไปในเดือนเมษายน หน่อ แซง (Naw Seng) พร้อมด้วยกำลังราว 300 คนจากชุมชนกะฉิ่นเดินทางไปสู่จีน [ต่อมาได้กลับมาร่วมรบในนามพรรคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ภายหลังจากการใช้เวลาอยู่ในจีนถึง 18 ปี]  แต่ก่อนจากไป หน่อ แซง (Naw Seng) ได้กำชับให้ทหารหนุ่มคนสนิท ชื่อ ซาว แซง (Zau Seng) ให้เป็นแนวร่วมกับกะเหรี่ยงรบกับพม่าต่อไป  และต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธุ์ 1961 สามพี่น้องกะฉิ่นนามว่า ซาว แซง (Zau Seng) ซาว ตู (Zau Tu) และ ซาว ดาน (Zau Dan) ก็ได้จัดตั้งกองกำลังต่อต้านรัฐบาลพม่าขึ้นที่เมืองแสนหวี ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ภายใต้ชื่อ องค์กรอิสรภาพกะฉิ่น (Kachin Independence Organisation: KIO) และ กองทัพเอกราชกะฉิ่น (Kachin Independence Army: KIA) เป็นปีกทางการทหารขององค์กร ทั่วไปมักเรียกว่า กลุ่มกะฉิ่นอิสระ จากนั้นขบวนการกะฉิ่นอิสระนี้จึงได้ขยายตัวไปทั่วทั้งรัฐกะฉิ่น ในระยะแรกของการเคลื่อนไหวต้องขับเคี่ยวกันทางอุดมการณ์ระหว่างกันไม่น้อย เพราะชาวกะฉิ่นส่วนหนึ่งคือแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์แบบเครือญาติและระบบหัวหน้าชุมชนยังคงเป็นขนบธรรมเนียมที่เหนียวแน่นแยกกันแทบไม่ออกว่า มันเป็นการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์หรือเพื่อความอยู่รอดของชนเผ่า



ในปี 1966 เพื่อเป็นการเปิดประตูสู่โลกเสรีนิยม ซาว แซง (Zau Seng) และซาว ตู (Zau Tu) น้องชายคนรอง ได้ยกกำลังทหารส่วนหนึ่งมุ่งสู่ชายแดนไทย-พม่า โดยเข้าเป็นพันธมิตรกับนายพลหลี่ เหวินฮ่วน แห่งกองบัญชาการกรมทหารราบที่ 3 จีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) ที่ฐานปฏิบัติการบ้านถ้ำงอบ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  ส่วน ซาว ดาน (Zau Dan) น้องชายคนเล็ก คุมกำลังทหารด้านชายแดนพม่า-จีน ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายด้านจากทั้งกองกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลพม่าและกองกำลังทหารฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และที่สาหัสก็คือการเผชิญหน้ากับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงเรื่องเขตยึดครอง ประกอบกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่ามีความพยายามที่จะจัดตั้งให้กลุ่มกะฉิ่นอิสระนี้เข้าเป็นแนวร่วมให้ได้ แต่พวกเขาบอกว่าไม่ชอบท่าทีของกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์พม่าและกลิ่นอายของพวกเรดการ์ดพม่าที่รับเอาการปฏิวัติวัฒนธรรมมาจากจีน แถมยังหาว่ากำลังทหารกะฉิ่นคือสุนัขรับใช้จักรวรรดินิยม  ในที่สุดการเผชิญหน้าระหว่างกำลังทหารกะฉิ่นอิสระกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าด้วยกำลังอาวุธก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การสู้รบยาวนานต่อเนื่องถึง 8 ปีนับตั้งแต่ปี 1968 ซาว ดาน (Zau Dan) อดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง นักรบกะฉิ่นเสียชีวิตจากการซุ่มโจมตีของฝ่ายคอมมิวนิสต์พม่าในเดือนมีนาคม 1975 และผู้นำกะฉิ่นที่สืบทอดงานต่อจาก ซาว ดาน (Zau Dan) ก็คือ ซาว ไหม่ (Zau Mai)

ในเดือนสิงหาคม 1975 ปีเดียวกันนี้ ณ ฐานที่มั่นกะฉิ่นใกล้บ้านถ้ำงอบ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่) เกิดความพยายามยึดอำนาจโดยนายทหารหนุ่มชื่อ แซง ตู (Seng Tu) ได้ลอบสังหารผู้นำของเขาคือ ซาว แซง (Zau Seng) ซาว ตู (Zau Tu) สองพี่น้องเสียชีวิตทั้งสองคน แซง ตู (Seng Tu) รายงานไปยังกองบัญชาการใหญ่ว่า  ผู้นำของเขาไม่ใส่ใจต่อการปฏิวัติ ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือยในประเทศไทย  เป็นที่ทราบกันดีว่ากองกำลังกะฉิ่นมิเพียงต้องการติดต่อกับโลกเสรีทุนนิยมเท่านั้น หากยังต้องดูแลการค้าในตลาดมืดชายแดน ไม่ว่าจะเป็นหยกและฝิ่นดิบ เพื่อแลกกับอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่อีกด้านหนึ่งของวงในขบวนการกะฉิ่นด้วยกันว่า เป็นการแย่งชิงอำนาจกันภายใน  ต่อมาไม่นาน แซง ตู (Seng Tu) ก็ถูกลอบสังหารเช่นกัน

บฺร่าง แซง (Brang Seng) อดีตครูใหญ่โรงเรียนมัธยมมิชชั่นคณะแบบติสท์เมืองมฺยิตจีนา และ ซาว ไหม่ (Zau Mai) สืบทอดงานต่อและได้นำนโยบาย สองหน้า มาใช้ในเกมการทูต หน้าหนึ่งรักษามิตรภาพกับฝ่ายจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) และไทยมหามิตรของสหรัฐฯ ส่วนอีกหน้าหนึ่งต้องรักษาผลประโยชน์กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าและจีน แม้จะไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ก็ตาม และต่อมาในปี 1976 ได้มีการพบปะกันระหว่างผู้นำองค์กรอิสรภาพกะฉิ่นและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ที่เมืองคุนหมิง มณฑลอฺวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ของจีน ทั้งสองฝ่ายจึงกำหนดขั้นตอนสู่การบรรลุข้อตกลงยุติการสู้รบกันและยังได้ทำสัญญากับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า โดยให้พรรคคอมมิวนิสต์พม่าเดินผ่านดินแดนของกะฉิ่นและสามารถโจมตีกองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่าได้อย่างสะดวก และด้วยการสนับสนุนด้านอาวุธจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนผ่านพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ทำให้กองทัพเอกราชกะฉิ่นซึ่งเป็นปีกทางการทหารขององค์กรอิสรภาพกะฉิ่นสามารถครอบครองพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ๆ ไว้ได้ นับได้ว่าเป็นกองกำลังที่มีอิทธิพลมาก และเป็นกองกำลังที่รัฐบาลพม่าให้ความสำคัญสูง

กองทัพเอกราชกะฉิ่นกำลังทหารขององค์กรอิสรภาพกะฉิ่นมีการจัดแบ่งกำลังทหารทั้งหมด 5 กองพลน้อย กองบัญชาการใหญ่อยู่ที่ปาเจา ตรงข้ามเมืองซิม่าของจีน  กองพลน้อยที่ 1 คุมพื้นที่ชายแดนอินเดีย-รัฐกะฉิ่น กองพลน้อยที่ 2 คุมพื้นที่เหมืองหยกเมืองผาก้าน กองพลน้อยที่ 3 เปิดประตูการค้าสู่จีนอยู่ทางตอนเหนือเมืองลุ่ยลี่ มณฑลอฺวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ของจีน กองพลน้อยที่ 4 อยู่ใกล้เมืองแสนหวีและเมืองโก๊ดขาย ทางตอนเหนือรัฐฉาน ส่วนฝ่ายต่างประเทศอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย

ปี 1989 เมื่อฐานที่มั่นใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าถูกกำลังแนวร่วมว้ายึดและยุบ  พรรคคอมมิวนิสต์พม่าต้องยุติบทบาทด้วยสิ้นเชิง ส่วนกำลังแนวร่วมกะฉิ่นได้เจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า  และแนวร่วมส่วนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองทัพประชาธิปไตยใหม่-กะฉิ่น (New Democratic Army-Kachin: NDA-K) มีผู้นำชาวกะฉิ่นชื่อ ซาคุง ติงยิง (Zahkung Tingying)  และปี 1990  มะทู หน่อ (Mahtu Naw) กองพลน้อยที่ 4 ของกองทัพเอกราชกะฉิ่น มีฐานที่มั่นอยู่ในรัฐฉานตอนเหนือ ได้เจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า  และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น กองทัพปกป้องกะฉิ่น (Kachin Defense Army: KDA)

ในปี 1980-1981 บฺร่าง แซง (Brang Seng) ผู้นำองค์กรอิสรภาพกะฉิ่นได้มีโอกาสเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเนวินอันนำไปสู่การหยุดยิงชั่วคราว และฝ่ายรัฐบาลพม่าจะอนุญาตให้กองทัพเอกราชกะฉิ่นสามารถครอบครองอาวุธได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่ายังคงปฏิเสธที่จะมอบอำนาจในการปกครองตนเองให้แก่องค์กรอิสรภาพกะฉิ่น อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้มีการเรียนการสอนหรือใช้ภาษากะฉิ่นอย่างเป็นทางการด้วย หรือแม้กระทั้งในเวลาต่อมา ซฺลาง ละมุง ตู ไจ (Salang Lamung Tu Jai) ผู้นำองค์กรอิสรภาพกะฉิ่นได้ร่วมเจรจาหยุดยิงหลายครั้ง จนกระทั่งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1994 จึงได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิง (Ceasefire Agreement) กับรัฐบาลทหารหรือSLORC ในขณะนั้น

ความสัมพันธ์อันเงียบสงบที่ว่างเว้นจากความขัดแย้งมานานเกือบทศวรรษก็เกิดรอยร้าวอีกครั้งเมื่อองค์กรอิสรภาพกะฉิ่นเกิดข้อพิพาทเรื่องโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแขวงบะหม่อ ทางตอนใต้รัฐกะฉิ่น หลังจากที่กองทัพเอกราชกะฉิ่นที่ไปตั้งมั่นอยู่ในบริเวณโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำตาป่างหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ถูกโจมตีจากกองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2009 การต่อสู้ของกองทัพเอกราชกะฉิ่นกับกองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่าก็กลับมาอีกครั้ง

ต่อมาความขัดแย้งระหว่างองค์กรอิสรภาพคะฉิ่นกับรัฐบาลพม่าก็ประทุหนักขึ้นอีก เมื่อผู้นำองค์กรอิสรภาพคะฉิ่นไม่สามารถเข้าร่วมการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2010 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่จัดขึ้นในรอบ 20 ปี และในปีเดียวกันนี้ รัฐบาลพม่าได้กดดันให้กองทัพเอกราชคะฉิ่นปลดอาวุธ แต่ทางกองทัพเอกราชคะฉิ่นไม่ยอมทำตามข้อเสนอดังกล่าว มีรายงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2011 โดยที่มีการสั่งการให้กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลพม่าได้บุกโจมตีฐานที่มั่นกองทัพเอกราชคะฉิ่นที่ไปตั้งมั่นอยู่ตามแม่น้ำทาปิง และที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองบะหม่ออย่างรุนแรง ซึ่งกองทัพเอกราชคะฉิ่นได้ทำการตอบโต้อย่างรวดเร็วด้วยการระเบิดสะพาน วางกับระเบิด และซุ่มโจมตีรถคุ้มกันของกองทัพรัฐบาลพม่า

แม้ว่ารัฐบาลประธานาธิบดี เต็ง เส่ง มีการประกาศในเดือนสิงหาคม 2011 ว่า ต้องการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มติดอาวุธทั่วประเทศ กระนั้นกองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่ายังคงปราบปรามกองกำลังกลุ่มติดอาวุธอย่างต่อเนื่องและรุนแรง โดยเฉพาะการทำสงครามปราบปรามองค์กรอิสรภาพกะฉิ่นที่ดำเนินมาตั้งแต่กลางปี 2011 และในช่วงปลายปี 2012 กองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่าได้โหมโจมตีทางอากาศและยิงปืนใหญ่ใส่พื้นที่รอบ ๆ เมืองไลซา อันเป็นฐานบัญชาการใหญ่ขององค์กรอิสรภาพกะฉิ่น ทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยมากมาย กองทัพรัฐบาลพม่ายังคงสู้รบกับกองทัพเอกราชกะฉิ่นอย่างไม่มีท่าทีว่าจะหยุดหย่อน แม้ว่าจะมีคำสั่งจากประธานาธิบดีเตง เส่ง หรือคำแถลงการณ์จากรัฐบาลจีนแล้วก็ตาม

รัฐบาลพม่าเริ่มเจรจาสันติภาพแบบทวิภาคีกับกองกำลังกลุ่มติดอาวุธทั่วประเทศตั้งแต่ปลายปี 2011 นำมาสู่การลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (NCA) ที่กรุงเหน่ปฺยี่ด่อ และมีกองกำลังกลุ่มติดอาวุธเพียง 8 กลุ่มเท่านั้นที่ร่วมลงนามในวันที่ 15 ตุลาคม 2015 กระบวนการเจรจาสันติภาพนั้นมีความสำคัญแต่ก็ยังไม่ใช่ภาพทั้งหมด การเมืองของพม่าสลับซับซ้อนกว่านั้น ยังมีกองกำลังกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ได้เข้าร่วมลงนามหยุดยิงทั่วประเทศกลุ่มใหญ่หลายกลุ่ม รวมถึงองค์กรอิสรภาพกะฉิ่น

ในปี 2016 พลเอก ก่อม หม่อ (Gen. Gun Maw) ผู้นำทหารกองทัพเอกราชกะฉิ่นภายใต้การนำของ  เอ็น ปานละ (N'ban La) ได้เจรจากับผู้นำสหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) ผู้นำแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (PSLF/TNLA) และผู้นำพรรคเพื่อความจริงและความยุติธรรมแห่งชาติเมียนมา/กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNTJP/MNDAA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ กองกำลังโกก้าง ผนึกกำลังเป็น ‘พันธมิตรแห่งภราดรภาพภาคเหนือ’ หลังจากนั้น ได้มีปฏิบัติการทางทหารร่วมกัน 2 ครั้งใหญ่คือ ยุทธการฟ้าสางที่หมู่แจ้ และอรุณเลือดที่เหล่ากาย ทั้งสองยุทธการ เป็นการทำสงครามจรยุทธ์ในเมือง จึงถูกรัฐบาลพม่ากล่าวหาว่า เป็นกลุ่มก่อการร้าย

ต่อมาในเดือนเมษายน 2017 ภายหลังการประชุมปางคำซัมมิท ครั้งที่ 4 ที่เมืองป๋างซาง องค์กรอิสรภาพกะฉิ่นได้ร่วมกับพันธมิตรฝ่ายเหนือได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการเจรจาต่อรองทางการเมือง ที่นำโดยพรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้า (UWSP/UWSA) สมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาการเจรจาต่อรองทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ หรือ FPNCC ประกอบด้วย พรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้า (UWSP/UWSA) องค์กรอิสรภาพกะฉิ่น/กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIO/KIA) แนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (PSLF/TNLA) พรรคเพื่อความจริงและความยุติธรรมแห่งชาติเมียนมา/กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNTJP/MNDAA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ กองกำลังโกก้าง พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) สหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) และกองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ-รัฐฉานตะวันออก (NDAA-ESS) หรือคณะกรรมการสันติภาพและความเป็นปึกแผ่น/กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (PSC/NDAA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ กองกำลังเมืองลา





เขตการปกครองที่ประกาศโดยองค์กรอิสรภาพกะฉิ่น (KIO) เทียบกับพื้นที่ซึ่งรัฐบาลพม่าประกาศเป็นรัฐกะฉิ่น และมีกองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) ดูแลพื้นที่ ประกอบด้วย


กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 1

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 2

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 3

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 4

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 5

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 6

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 7

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 8

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 9

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยที่ 10

กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กองพลน้อยชุดรบเคลื่อนที่เร็ว


กองทัพพม่าทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 คณะรัฐประหารได้ตั้งคณะบุคคลที่เรียกว่า สภาบริหารแห่งรัฐ หรือ State Administration Council: SAC ชื่อย่อตามตัวอักษรพม่าว่า นะ ซะ ก๊ะ มี พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพแห่งสหภาพ (ผบ.สส.) เป็นประธาน มีกรรมการประมาณ 15 คน ซึ่งเป็นนายทหารและตัวแทนชนชาติพันธุ์พื้นเมืองของเมียนมาบางกลุ่ม

สภาบริหารแห่งรัฐ หรือ State Administration Council: SAC เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุดในการออกกฏ ระเบียบ ปลด โยกย้าย และแต่งตั้ง บุคคลากรทุกระดับ แบบเดียวกับสภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council: SLORC) หรือ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council: SPDC) องค์กรปกครองสูงสุดของคณะเผด็จการทหารในอดีต

ฝั่งผู้ถูกรัฐประหาร สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จำนวน 380 คน ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 ได้รวมตัวกันสถาปนา คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw: CRPH’ ขึ้นในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2021 เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลและรัฐสภา ในการติดต่อสัมพันธ์กับประชาคมโลก แทนที่ สภาบริหารแห่งรัฐ ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหาร

คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ ทำหน้าที่รัฐบาลคู่ขนาน มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีมารับผิดชอบงานด้านต่าง ๆ มี ซฺไล หม่อง ไถ่ ซาน (Salai Maung Taing San) หรือที่รู้จักในชื่อ ดร. ส่า ส่า (Dr. Sa Sa) ที่คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ แต่งตั้งให้เป็นทูตพิเศษประจำสหประชาชาติ ทำหน้าที่ติดต่อ ประสานงาน บอกเล่าข่าวสารความเคลื่อนไหวว่า คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง

ซฺไล หม่อง ไถ่ ซาน (Salai Maung Taing San) หรือที่รู้จักในชื่อ ดร. ส่า ส่า (Dr. Sa Sa) เป็นแพทย์ชาวรัฐชิน รัฐทางฝั่งตะวันตกของเมียนมาที่มีชายแดนติดกับประเทศอินเดีย เป็นสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020

ทั้งสภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC และ คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ CRPH ต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นองค์กรผิดกฏหมาย ทั้งสภาบริหารแห่งรัฐในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ประกาศจะดำเนินการทางกฏหมายกับคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ รวมถึงทุกองค์กรและทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ

ภายหลังการรัฐประหาร สถานการณ์ในเมียนมาเต็มไปด้วยการประท้วงของประชาชน โดยมีคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพให้การสนับสนุน มีการชุมนุมที่กระจายไปตามเมืองน้อยใหญ่ ในทุกรัฐ ทุกภูมิภาค

ช่วงแรก กำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งนำมาใช้จัดการกับผู้ชุมนุม มีตำรวจเป็นหลัก ทหารเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุน แต่หลังเกิดการเผาโรงงานของนักธุรกิจจีนในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2021 สภาบริหารแห่งรัฐ หรือ SAC ได้ประกาศกฏอัยการศึกในหลายพื้นที่ กำลังทหารจำนวนมากถูกส่งมาประจำการ ทั้งในนครย่างกุ้งและเมืองมันตะเล และเป็นกำลังหลักในการจัดการกับผู้ชุมนุม

หลังการรัฐประหารผ่านไป 1 เดือน กองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์พื้นเมืองของเมียนมาหลายกลุ่มเริ่มเคลื่อนไหว แสดงท่าทีของตนเองออกมา

ก่อนรัฐประหาร ภาพโดยรวมของกองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์พื้นเมืองของเมียนมาแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ประกอบด้วย

กลุ่มที่รวมตัวกันในนามคณะทำงานสร้างสันติภาพกลุ่มติดอาวุธชนพื้นเมืองของเมียนมากลุ่มที่ลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (Peace Process Steering Team: PPST) เป็นกองกำลังที่ได้ลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลเมียนมาไปแล้ว ประกอบด้วยกองกำลังของ 10 กลุ่ม ได้แก่ 1) แนวร่วมนักศึกษาพม่าทั้งมวลเพื่อประชาธิปไตย (ABSDF) 2) พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP) 3) แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) 4) กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (DKBA) 5) สภาสันติภาพแห่งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU/KNLA PC) 6) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) 7) องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (PNLO) 8) สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) 9) พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) 10) สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)

8 กลุ่มแรก ได้ลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2015 สมัยประธานาธิบดี เตง เส่ง (Thein Sein) ส่วน 2 กลุ่มหลังคือ พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP) และ สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU) NMSP และ LDU ลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลที่มีพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซูจี เป็นแกนนำ ปัจจุบัน คณะทำงานสร้างสันติภาพกลุ่มติดอาวุธชนพื้นเมืองของเมียนมากลุ่มที่ลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (Peace Process Steering Team: PPST)  มี พลเอก ยอดศึก ประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ทำหน้าที่รักษาการณ์ประธาน

อีกกลุ่มหนึ่งเป็น 7 กองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์พื้นเมืองของเมียนมาที่ยังไม่ได้ลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาล รวมตัวกันในนามคณะกรรมการที่ปรึกษาการเจรจาต่อรองทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ หรือ Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee: FPNCC ประกอบด้วย 1) พรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้า (UWSP/UWSA) 2) องค์กรอิสรภาพกะฉิ่น/กองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIO/KIA) 3) แนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (PSLF/TNLA) 4) พรรคเพื่อความจริงและความยุติธรรมแห่งชาติเมียนมา/กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNTJP/MNDAA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ กองกำลังโกก้าง 5) พรรครัฐฉานก้าวหน้า/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) 6) สหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน (ULA/AA) 7) กองทัพสัมพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ-รัฐฉานตะวันออก (NDAA-ESS) หรือคณะกรรมการสันติภาพและความเป็นปึกแผ่น/กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (PSC/NDAA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ กองกำลังเมืองลา โดยมี กองทัพสหรัฐว้า(UWSA) เป็นแกนนำในการจัดตั้งและมีบทบาทเป็นผู้นำ ภายใต้ความพยายามผลักดันของจีน เนื่องจากกองกำลังกลุ่มนี้มีความใกล้ชิดกับจีนในหลายด้าน

นอกจาก 17 กลุ่มข้างต้นแล้ว ยังมีบางชนชาติพันธุ์พื้นเมืองของเมียนมาที่มีกองกำลังของตนเอง พวกนี้ยังไม่ได้ลงนามในหนังสือสัญญาเกี่ยวกับการยุติการสู้รบทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลและไม่ได้เข้าไปรวมอยู่กับกลุ่มคณะกรรมการที่ปรึกษาการเจรจาต่อรองทางการเมืองแห่งสหพันธรัฐ หรือ FPNCC ส่วนใหญ่ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ของตน เคยมีการปะทะกับกองทัพพม่า แต่ไม่ได้ปรากฏออกมาเป็นข่าว กองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์พื้นเมืองของเมียนมาเหล่านี้ อาทิ พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party: KNPP) แนวร่วมปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยงแดง (Karenni National People’s Liberation Front: KNPLF) ในรัฐคะยา กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army: ARSA) ในรัฐยะไข่ กองทัพเชื้อชาติชานหนี่ (Shanni Nationalities Army: SNA) สภาสังคมนิยมชาตินิยมแห่งนาคาแลนด์-คะปลัง (National Socialist Council of Nagaland-Khaplang : NSCN-K) ในภูมิภาคสะกาย และกองทัพแห่งชาติคูกิ (Kuki National Army: KNA) ในรัฐชิน เป็นต้น

ก่อนรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพเอกราชกะฉิ่นกับกองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่ามีการสู้รบกันเป็นระยะอยู่แล้วในพื้นที่รัฐกะฉิ่น และบางส่วนทางตอนเหนือของรัฐฉาน เมื่อเกิดรัฐประหาร โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 11 มีนาคม 2021 กองทัพเอกราชกะฉิ่นกับกองทัพฝ่ายรัฐบาลพม่ามีการสู้รบเกิดขึ้นแทบทุกวัน




































แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น