พม่ายื่นเสนอ ‘ทานาคา’ ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
วันที่ 31 มีนาคม 2020 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ กรมโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้ยื่นเสนอ “ทานาคา” ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เพื่อพิจารณารับรองให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของโลก อย่างไรก็ตาม พม่าจะทราบผลในเดือนธันวาคม 2021 ว่าทานาคาจะได้รับการขึ้นทะเบียนยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่
ทานาคา ( Thanakha ) หรือต้นไม้ที่ไทยเรียกกันว่า ‘ต้นกระแจะ’ มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hesperethusa crenulata (Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ Rutaceae หรือวงศ์มะนาว มีชื่อเรียกตามท้องถิ่น เช่น พญายา (ราชบุรี), ขะแจะ (ภาคเหนือ), ตุมตัง (อีสาน), ตะนาว (มอญ), ทานาคา (พม่า) เป็นต้นถิ่นกำเนิดไม่ชัดเจน แต่มีการกระจายพันธุ์ทั่วไปตามพื้นที่เขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย เช่น พม่า ไทย ศรีลังกา อินโดนีเซีย ปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย พบได้ตามป่าดิบชื้น ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 100-400 เมตร ทานาคาเป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลักษณะเป็นทรงพุ่มแต่ไม่แผ่กว้าง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงเฉลี่ย 8-15 เมตร ลำต้นตั้งตรงสูงโปร่ง เปลือกลำต้นสีน้ำตาลขรุขระ แตกเป็นร่อง กิ่งแตกจากลำต้นหลักในแนวตั้งฉาก เนื้อไม้สีขาว ถ้าตากจนแห้งจะเป็นสีเหลือง มีหนามแข็งและยาว ตลอดลำต้น ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยการเพาะเมล็ด หรือจะใช้กิ่งมาปักชำ ผงทานาคาถูกนำมาใช้ประโยชน์กันนานแล้ว ในสมัยก่อนเกือบทุกบ้านในพม่าจะมีแท่งไม้ทานาคาติดบ้านเอาไว้ เวลาจะใช้ก็นำมาฝนกับแท่นหิน เวลาฝนก็ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย แล้วจะได้แป้งธรรมชาตินำมาใช้ทาผิว ใช้แก้คัน ทาตามรักแร้ลดกลิ่นตัวก็ได้ บางครั้งจะเห็นว่าชาวพม่าหลายคนทำงานกันกลางแดดจ้า แต่ก็ยังมีใบหน้าที่ขาวเนียนอยู่ เพราะว่าพวกเขาใช้ทานาคาทาหน้ากันอยู่เป็นประจำนั่นเอง
แสดงความคิดเห็น
0 ความคิดเห็น