United Wa State

พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ซึ่งต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในพื้นที่ชายแดนพม่ามาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ล่มสลายในเดือนเมษายนปี 1989 หลังจากเจ้ายี่ลาย (Zhao Nyi-Lai) อดีตกรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นสหายชาวว้า ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 12 กับ เปา โหย่วเฉียง (Bao Youxiang) ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 683 นำกำลังแยกตัวออกมาก่อตั้งกองกำลังอิสระ วันที่ 17 เมษายน ได้จัดตั้งเป็น กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) และก่อตั้งพรรคสหรัฐว้า (UWSP) ขึ้นเป็นเข็มทิศชี้นำการเมืองและยุทธศาสตร์ วันที่ 9 พฤษภาคม ได้ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า พรรคสหรัฐว้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทุกคนจะเป็นสมาชิกพรรคกันหมด พรรคสหรัฐว้าได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาพรรค ซึ่งมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมตามธรรมนูญพรรคกำหนด เลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรค สมาชิกกรมการเมือง สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง และเลือกตั้งเลขาธิการพรรค อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ พรรคสหรัฐว้าให้สมัชชาประชาชนจัดตั้งสภาและรัฐบาลประชาชนและกลไกการปกครองสำคัญอื่นๆ และในปี 1992 ได้มีการสถาปนาเป็นสหรัฐว้า (ปัจจุบันสหรัฐว้ามีหน่วยงานเทียบเท่ากระทรวง 27 หน่วยงาน) ช่วงกลางปี 2009 ความตึงเครียดระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพสหรัฐว้าเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลทหารพม่าได้กดดันกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ลงนามหยุดยิง ให้เปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ภายใต้กองทัพพม่า วันที่ 22 มีนาคม 2010 กองทัพพม่ามีคำสั่งเรียกเจ้าหน้าที่ข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ (NGO) ในสหรัฐว้ากลับภายในสองวัน *กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดของการสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนของพม่า แต่เพื่อมิให้อธิปไตยของรัฐเสื่อมเสียไป วันที่ 20 สิงหาคม 2010 ทางการพม่าได้ประกาศให้สหรัฐว้าเป็นภาคปกครองตนเองว้า ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2008 ประกอบด้วย 6 หัวเมืองใหญ่ คือ เมืองโหป่าง (แขวงกุ๋นโหลง) เมืองปางซาง เมืองนาพาน เมืองปางหวาย เมืองใหม่ (แขวงล่าเสี่ยว) เมืองหมากหมาง (แขวงเกงตุ๋ง) และมีชื่อเป็นทางการว่า เขตพิเศษว้า 2 แห่งรัฐฉาน* ในวันที่ 22 เมษายน 2010 รัฐบาลทหารพม่าได้กำหนดให้กลุ่มหยุดยิงส่งมอบบัญชีกำลังพลและอาวุธ พร้อมกับขีดเส้นตายให้กลุ่มหยุดยิงต่างๆ จัดตั้งเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนภายในวันที่ 28 เมษายน โดยมีการขู่ว่าถ้าขัดขวางจะบังคับใช้กฎหมาย ขณะเดียวกัน กองทัพสหรัฐว้าไม่ยอมเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน จนกระทั่งพม่าเปิดคูหาเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2010 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2008 ในที่สุดพรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้าก็ได้ลงนามหยุดยิงสองฝ่ายในระดับรัฐและระดับสหภาพอีกครั้งในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2011 การลงนามหยุดยิงครั้งนี้กลายเป็นการเปิดช่องให้พรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้าได้หยั่งรากและไหลลื่นมากขึ้น พรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้าได้มีการจัดรูปแบบการปกครองให้เป็นรูปแบบรัฐสมัยใหม่ไปพร้อมกับการพัฒนาท้องถิ่นและภูมิภาคในหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น มีการจัดการวางผังเมืองใหม่ มีการสร้างระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานเอาไว้ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตในทุกๆ ด้านเป็นไปอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีที่สหรัฐว้ากำลังก้าวนำเพื่อยืนหยัดอย่างมั่นคงโดยไม่ต้องสงสัย และไม่ใช่เรื่องแปลกที่พม่าจะเริ่มต้นแสดงถึงความวิตกกังวล ในปี 2015 รัฐบาลทหารพม่าได้กำหนดมาตรการสกัดกั้นทางด้านเศรษฐกิจและการค้า พร้อมทั้งยังยุติการให้ความช่วยเหลือต่างๆ มาตรการดังกล่าวราวกับเป็นการตกรางวัลให้กับสหรัฐว้าอย่างงดงาม เพราะเป็นการเปิดทางให้สหรัฐว้ามีความสัมพันธ์กับจีนอย่างใกล้ชิดในทุกด้านไปโดยปริยาย

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น