สหรัฐว้า (United Wa State) เขตพิเศษว้า 2 แห่งรัฐฉาน

ภาคปกครองตนเองว้า (Wa Self-Administered Division) เป็นพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญปี 2008 มีพื้นที่ปกครอง 6 เมืองในรัฐฉาน(ฝั่งตะวันออกสาละวิน) ชื่อเป็นทางการได้ประกาศ เมื่อ 20 สิงหาคม 2010 เป็นเขตที่จัดให้ชาวว้าได้ปกครองตนเอง ปัจจุบันได้มีการรวบรวม รัฐว้า(Wa State) ในชื่อทางการว่า เขตพิเศษว้า 2 แห่งรัฐฉาน
ผู้นำสูงสุดพรรคสหรัฐว้า (United Wa State Party) และกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army) คือ เปาโหย่วเฉียง (Bao You-Xiang) พื้นที่ว้าภาคเหนือ กองบังคับการใหญ่ปางซาง มี 4 กองพลน้อย (1) กองพลน้อยที่ 318 (2) กองพลน้อยที่ 418 (3) กองพลน้อยที่ 468 (4) กองพลน้อยที่ 618 เมืองมังแสง-หนองเข็ด พื้นที่ว้าภาคใต้ เหว่ย เซียะ กัง กองพลที่ 171 กองบัญชาการเมืองยอน มี 5 กองพลน้อย (1) กองพลน้อยที่ 248 หัวป่าง-หัวยอด ด้านตรงข้าม อ .ฝาง จ.เชียงใหม่ (2) กองพลน้อยที่ 518 เมืองยอน ด้านตรงข้าม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ (3) กองพลน้อยที่ 772 เมืองเต๊าะ เมืองทา เมืองจ๊อด ด้านตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ (4) กองพลน้อยที่ 775 ห้วยอ้อ-บุ่งป่าแขม ด้านตรงข้าม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ (5) กองพลน้อยที่ 778 คายโหลง-ตากแดด-น้ำกั๊ด ด้านตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ยังมีกองกำลังอาสาสมัครอยู่ตามเมืองต่างๆ คือ (1) กองพลน้อยที่ 916 กองบัญชาการเมืองใหม่ มี 5 กองพัน (2) กองพลน้อยที่ 917 เวียงเก่า (3) กองพลน้อยที่ 918 เมืองป๊อก
การประชุมครั้งที่ 3 ของกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธที่ยังไม่ได้ลงนามหยุดยิง(NCA) ที่เมืองปางซาง เขตพิเศษว้า 2 แห่งรัฐฉาน โดย UWSP/UWSA เป็นเจ้าภาพ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพอาระกัน (ULA/AA) กองทัพคะฉิ่น (KIO/KIA) กองทัพโกก้าง (MNDAA) กองทัพตะอาง (PSLF/TNLA) กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) กองทัพเมืองลา (PSC/NDAA) กำลังกะเหรี่ยงพุทธกลุ่มซานอ่อง(DKBA) เปาโหย่วเฉียง (Bao You-Xiang) ผู้นำสูงสุดพรรคสหรัฐว้า/กองทัพสหรัฐว้า(UWSP/UWSA) ได้ขึ้นกล่าวในที่ประชุมว่า ชาติพันธุ์จะต้องมาร่วมกันหาความหมายที่แท้จริงของสัญญาปางโหลง ปี 1947 รวมไปถึงข้อความทางการเมืองอย่างคำว่า ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิการปกครองตนเอง การก่อตั้งสหภาพ เหล่านี้ยังไม่มีการระบุความหมายที่ชัดเจน จึงทำให้ที่ผ่านมาถูกทางฝ่ายพม่าใช้เป็นเครื่องมือมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังโจมตีสัญญาหยุดยิงแห่งชาติของรัฐบาลพม่านั้นยิ่งทำให้ชาติพันธุ์แตกแยกออกเป็น 3 ฝ่าย นอกจากไม่สามารถยุติสงครามที่เกิดขึ้นในประเทศแล้ว ยังทำให้เกิดสงครามในประเทศมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการพูดคุยเจรจาทางการเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าใช้วิธีการแยกการหารือเป็นกลุ่มๆ ไป โดยผู้นำว้าแนะว่า จะต้องร่วมกันหาทางออกเพื่อไม่ให้เป็นไปในรูปแบบเดิม และเจ้าหน้าที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมประชุมรายหนึ่งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า นางอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำของรัฐบาลชุดนี้ก็ยังคงดำเนินรอยตามสิ่งที่รัฐบาลเต็งเส่งได้ทำไว้ จะเห็นได้ว่า นางอองซาน ซูจีนั้นไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกันชาติพันธุ์บางส่วนยังเห็นว่า ความไว้ใจต่อชาติพันธุ์ของฝ่ายผู้นำพม่า รวมถึงนางอองซาน ซูจีนั้น มีท่าทีที่ไม่ได้แตกต่างกันนัก และในที่ประชุมครั้งนี้ทางกลุ่มชาติพันธุ์ยังเห็นด้วยและออกข้อเรียกร้อง 9 ข้อ เช่น เรียกร้องทางฝ่ายรัฐบาลพม่าใช้สัญญาหยุดยิงที่เป็นธรรมเสมอภาคแทนสัญญาหยุดยิงที่ใช้อยู่ปัจจุบัน รวมไปถึงเรียกร้องให้รัฐบาลจีนและนานาชาติเข้าร่วมในกระบวนการสร้างสันติภาพในฐานะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ยุติการใช้กำลังทหาร Tatmadaw โจมตีในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนด้านเศรษฐกิจนั้น การลงทุนในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์เห็นด้วยกับนโยบาย One Belt One Road (OBOR) ของจีนว่าจะสามารถสร้างการพัฒนา ความก้าวหน้าได้พร้อมๆ กับการสร้างสันติภาพ โดยเห็นว่านโยบายนี้จะเป็นผลดีกับกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แก้ไขมติสภารัฐฉานเมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่มีการใช้คำเรียกทหารกองทัพคะฉิ่น (KIO/KIA) ทหารกองทัพตะอาง (PSLF/TNLA) และทหารกองทัพโกก้าง (MNDAA) ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เนื่องจากมีพฤติกรรมสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน เช่น ทำลายสะพาน เผาทำลายรถของชาวบ้าน ปิดเส้นทางสัญจรไปมา สู้รบตามหมู่บ้าน ขณะที่ทั้งกลุ่ม 3 กลุ่มอ้างว่า การเรียกกลุ่มตนเป็นผู้ก่อการร้ายนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อสิ่งที่ประชาชนต้องการ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น