กองทัพบกพม่า มีเขตรับผิดชอบทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นกองทัพภาค จำนวน 6 ภาค มีชื่อเรียกว่า Bureau of Special Operations หรือ BSOs ถ้าแปลเป็นไทยก็น่าจะเป็นกองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษ แต่ว่าจริง ๆ แล้วมีขนาดเทียบเท่ากับ “กองทัพภาค” ตามอัตราการจัดของกองทัพไทย และที่สำคัญก็คือ มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคือ “แม่ทัพภาค” ชั้นยศ “พลโท” เช่นเดียวกับกองทัพภาคของไทย กองทัพภาคในประเทศพม่ามีทั้งหมด 6 ภาคด้วยกัน กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายใต้สายการบังคับบัญชากองทัพภาคนั้นจะมี กองทัพน้อย หรือที่เรียกกันว่า Regional Military Command เรียกย่อ ๆ ว่า RMC หรือ กองบัญชาการภูมิภาคทหาร ซึ่งมีขนาดเทียบเท่ากับกองทัพน้อยในอัตราการจัดของโลกตะวันตก มีแม่ทัพน้อย หรือ ผู้บัญชาการภูมิภาคทหาร ชั้นยศ “พลตรี” เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ กองทัพภาคทั้ง 6 หรือกองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษทั้ง 6 นั้น ประกอบไปด้วย
กองทัพภาคที่ 1 มีพื้นที่รับผิดชอบ อยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือที่ติดกับประเทศอินเดียและประเทศจีน และมีพื้นที่รับผิดชอบในพื้นที่ภาคกลางบางส่วน มีที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 อยู่ที่เมืองมัณฑะเล (Mandalay) ภาคมัณฑะเล (Mandalay Division) กองทัพภาคที่ 1 นั้น มีกองทัพน้อย จำนวน 3 กองทัพน้อย คือ
กองทัพน้อยภาคกลาง หรือ กองบัญชาการภาคกลาง ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Central Command มีที่ตั้งอยู่เมืองมัณฑะเล (Mandalay) เช่นเดียวกับกองบัญชาการของกองทัพภาค มีกองพลมัณฑะเล อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา คาดว่าประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 17 กองพัน
กองทัพน้อยภาคตะวันตกเฉียงเหนือ หรือ North Western Command มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองโหม่งยั่ว (Monywa) ภาคสะกาย (Sagaing Division) อยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 3 ชั่วโมง มีกองพลสะกาย อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา คาดว่ามีกองพันทหารราบ ประมาณ 25 กองพัน สำหรับกองพลสะกาย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กำลังเผชิญหน้ากับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ชาติพันธุ์นาคา ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏอินเดีย และมีความพยายามจะเคลื่อนไหวในพื้นที่อิทธิพลของกองทัพน้อยภาคตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2019 ที่ผ่านมา กองพลสะกายได้ส่งกำลังทหารราว 400 นาย บุกเข้ายึดศูนย์บัญชาการของสภาสังคมนิยมชาตินิยมแห่งนาคาแลนด์-คะปลัง (National Socialist Council of Nagaland-Khaplang : NSCN-K) ที่ตั้งอยู่หมู่บ้านทากา เขตเมืองนานยุน ในพื้นที่ปกครองตนเองนาคา (เขตปกครองตนเองนาคา ประกอบด้วยเมือง 3 เมือง คือ เมืองเลชิ เมืองลาเฮ และ เมืองนานยุน) ทางตอนเหนือภาคสะกาย
กองทัพน้อยภาคเหนือ (Northern Command) หรือ กองบัญชาการภาคเหนือ กองทัพน้อยนี้รับผิดชอบในรัฐกะฉิ่น (Kachin State) ซึ่งมีดินแดนส่วนใหญ่ติดกับประเทศจีน มีที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพน้อยอยู่ที่เมืองมิตจีนา (Myitkyina) คาดว่าจะประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 33 กองพัน
กองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่งติดกับประเทศไทยและประเทศลาว มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว (Lashio) ประกอบไปด้วยกองทัพน้อย 3 กองทัพน้อย คือ
กองทัพน้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (North Eastern Command) มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองล่าเสี้ยว (Lashio) เช่นเดียวกับที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ตั้งอยู่ รับผิดชอบพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือ (Northern Shan State) คาดว่าจะมีกองพันทหารราบ ประมาณ 47 กองพัน กำลังทีสำคัญคือ กองพลทหารราบเบาที่ 99 ที่เข้ายึดกองบังคับการกองพันที่ 36 ของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) ที่หมู่บ้านมูวา ในเขตเมืองหมู่แจ้ ทางตอนเหนือรัฐฉาน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2019 ที่ผ่านมา หลังจากได้ทำการต่อสู้กันอย่างหนักหน่วงเป็นเวลานานกว่า 3 วัน กองพลทหารราบเบาที่ 99 เป็นกำลังที่มีชื่อเสียงของกองทัพน้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือในสังกัดกองทัพภาคที่ 2 ถูกดึงตัวออกไปช่วยงานหลายอย่าง เคลื่อนที่จากรัฐฉานลงไปจนถึงรัฐยะไข่หรืออาระกัน เมื่อปีที่แล้วถูกส่งเข้าไปปฏิบัติภารกิจในการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และกองทัพน้อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกองทัพภาคที่ 2 ก็ยังมีอีกกองพันหนึ่งที่สำคัญคือ กองพันทหารราบเบาที่ 520 ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 อย่างมากมาย
กองทัพน้อยภาคตะวันออก หรือ Eastern Command มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองตองจี (Taunggyi) รับผิดชอบพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน (Southern Shan State) ประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 42 กองพัน ในจำนวนนี้มีกองพันทหารราบเบา จำนวน 16 กองพัน ซึ่งสังกัดอยู่ในกองบัญชาการยุทธการภาค หรือ Regional Operation Command ซึ่งแบ่งกำลังมาจากเมืองล๋อยก่อ (Loikaw) เมืองเอกของรัฐคะยา (Kayah State) เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจในรัฐฉานตอนใต้ สาเหตุที่กองบัญชาการภาคตะวันออกมีกำลังทหารมากเป็นพิเศษก็เนื่องจากเป็นฐานในการระดมสรรพกำลังเพื่อทำการต่อสู้กับชนกลุ่มน้อยในที่ราบสูงรัฐฉานซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชาติพันธุ์ กองพันที่สำคัญของกองทัพน้อยภาคตะวันออก เช่น กองพันทหารราบเบาที่ 252,256 ซึ่งทำการรบอยู่ในพื้นที่อิทธิพลของแนวร่วมปลดปล่อยรัฐปะหล่อง/กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (PSLF/TNLA) และพรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (SSPP/SSA) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 กำลังพลของกองพันทหารราบเบาทั้งสองหน่วยนี้ได้เข้าตีที่มั่นของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) ในเขตเมืองน้ำตู้ (Namtu) การรบเป็นไปอย่างรุนแรงจนกระทั่งกองทัพพม่าต้องใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เข้าสนับสนุนในการโจมตีส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องอพยพหนีภัยสงครามออกจากพื้นที่การสู้รบ
กองทัพน้อยภาคสามเหลี่ยม หรือเรียกกันว่า Triangle Regional Command มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองเชียงตุง (Kengtung) กองบัญชาการกองทัพน้อยภาคสามเหลี่ยมนั้น มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกของรัฐฉาน (Eastern Shan State) ซึ่งเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำติดกับจีนลาวและประเทศไทย ประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 39 กองพัน
กองทัพน้อยภาคตะวันออกกลาง (Eastern Central Command) รับผิดชอบพื้นที่ตอนกลางของรัฐฉาน (Middle Shan State) กองทัพภาคนี้มีการจัดตั้งขึ้นในปี 2011 กองบัญชาการแห่งนี้ตั้งอยู่ที่โขล๋ำ (Kho Lam) เมืองกุ๋นเฮง แขวงล๋อยแหลม ประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 50 กองพัน โดยประจำการอยู่ในรัฐคะยา 10 กองพัน ที่เหลือ 40 กองพันอยู่ในรัฐฉาน
กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งก็มีกองทัพน้อยอยู่ 3 กองทัพน้อย กองทัพภาคที่ 3 นั้น มีที่ตั้งอยู่เมืองพะสิม (Pathein) ประกอบไปด้วย
กองทัพน้อยภาคตะวันตกเฉียงใต้ (South Western Command) ตั้งอยู่เมืองพะสิม (Pathein) เช่นเดียวกับกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 เป็นที่ตั้งของกองพลอิระวดี (Ayeyarwady) ประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 11 กองพัน
กองทัพน้อยภาคใต้ (Southern Command) มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองตองอู (Toungoo) เป็นที่ตั้งของกองพลพะโค (Bago) และกองพลมะเกฺว (Magwe) ประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 33 กองพัน
กองทัพน้อยภาคตะวันตก (Western Command) มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองอาน (Ann) รับผิดชอบรัฐยะไข่ (Rakhine State) หรือรัฐอาระกัน (Arakan State) และรัฐชิน (Chin State) ประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 33 กองพัน กองทัพน้อยภาคตะวันตกนี้ เป็นกองทัพน้อยที่ต้องเผชิญหน้ากับชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ ซึ่งเขามีกองทัพของเขาที่เรียกกันว่า สหสันนิบาตแห่งอาระกัน/กองทัพอาระกัน หรือ ULA/AA เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 กองทัพอาระกัน (AA) ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นกองบังคับการกองพันทหารราบเบาที่ 105 เกิดการปะทะกันอย่างหนัก จนกระทั่ง พ.ต.วิน เมียว อ่อง (Win Myo Aung) รองผู้บังคับกองพันของกองพันทหารราบเบาที่ 105 เสียชีวิตในพื้นที่การสู้รบ
กองทัพภาคที่ 4 มีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ทางฝั่งทะเลอันดามันและพื้นที่ตอนใต้ที่ติดกับประเทศไทย มีที่ตั้งอยู่กับเมืองมะริด (Myeik) ประกอบไปด้วย กองทัพน้อย 2 กองทัพน้อย คือ
กองทัพน้อยชายฝั่ง หรือ Coastal Command มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองมะริด (Myeik) เป็นที่ตั้งของกองพลตะนาวศรี หรือที่พม่าเรียกว่า ตะนินตะหยี่ (Tanintharyi) ประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 43 กองพัน กองทัพน้อยชายฝั่งนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากต้องดูแลพื้นที่เศรษฐกิจที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุประเภทดีบุก ทังสเตนหรือวุลแฟรม อัญญมณีที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ อย่างเช่น ไข่มุก รวมไปถึงยังเป็นพื้นที่ทำการประมงที่สำคัญของพม่าด้วย
กองทัพน้อยตะวันออกเฉียงใต้ หรือ South Eastern Command มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองมะละแหม่ง (Mawlamyaing) เมืองเอกของรัฐมอญ (Mon State) ที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของประเทศรองมาจากย่างกุ้ง (Yangon) มัณฑะเล (Mandalay) กองทัพน้อยตะวันออกเฉียงใต้นี้ ประกอบไปด้วยกองพันทหารราบ ประมาณ 36 กองพัน
กองทัพภาคที่ 5 มีพื้นที่ตั้งอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง รับผิดชอบพื้นที่เขตย่างกุ้งเพียงเขตเดียว จึงมีกองทัพน้อยอยู่ใต้การบังคับบัญชาเพียงหนึ่งกองทัพน้อย คือ
กองทัพน้อยย่างกุ้ง (Yangon Command) มีที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองมะย่างกุ้ง (Mayangon) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้ง เมื่อไม่นานมานี้ กองพันทหารราบที่ 28 ซึ่งขึ้นสายบังคับบัญชากับกองพลที่ 22 ได้ร่วมปฏิบัติการลาดตะเวนร่วมกับกองกำลังของฝ่ายไทย ที่บริเวณอำเภอแม่สอด โดยร่วมกับกรมทหารราบที่ 14 และกรมทหารพรานที่ 35 ฝ่ายไทย ทำการลาดตะเวนร่วมกันเพื่อสกัดกั้นการหลบหนีเข้าเมืองและการขนส่งของผิดกฎหมาย โดยเฉพาะยาเสพติด
กองทัพภาคที่ 6 มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองปฺยีมมะนา (Pyinmana) ในกรุงเหน่ปฺยี่ด่อ (Naypyidaw) มีกองทัพน้อยสังกัดอยู่ 1 กองทัพน้อย คือ
กองทัพน้อยภาคเหน่ปฺยี่ด่อ (Naypyidaw Command) รับผิดชอบพื้นที่เหน่ปฺยี่ด่อทั้งหมด กองทัพภาคนี้มีการจัดตั้งขึ้นในปี 2006 ถือว่าเป็นกองบัญชาการกองทัพภาคและเป็นศูนย์กลางในการบริหารงานกองทัพพม่าทั้งหมด กองบัญชาการแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เขตมะยุตตะเย เป็นกองบัญชาการที่ทันสมัยมาก ประกอบด้วยเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัย สามารถสั่งการอำนวยการยุทธ์ต่อกองบัญชาการหรือกองทัพภาคต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศ มีการก่อสร้างหลุมหลบภัยขนาดใหญ่และอุโมงค์ลับและบังเกอร์เป็นจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นเส้นทางเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ในกรณีที่ถูกโจมตีทางอากาศจากข้าศึก
แสดงความคิดเห็น
0 ความคิดเห็น