การพิจารณาคดีกับผู้นำเขมรแดง

ตั้งแต่ปี 1975 กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เขมรแดง” คือ กองกำลังคอมมิวนิสต์กัมพูชา ปกครองราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็น กัมพูชาประชาธิปไตย สิ่งแรกที่เขมรแดงกระทำหลังจากครองอำนาจ คือ การกวาดต้อนประชาชนจากเมืองมาบังคับใช้แรงงานร่วมกันในพื้นที่ชนบท การกระทำดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ประชาชนต้องเสียชีวิตจากการถูกสังหาร ถูกบังคับใช้แรงงาน และความอดอยาก เป็นจำนวนประมาณ 850,000-3,000,000 คน (ในปี 1975 กัมพูชามีประชากร ประมาณ 7,500,000 คน) หลังจากที่เขมรแดงปกครองเป็นระยะเวลา 4 ปี ในปี 1979 อำนาจการปกครองของเขมรแดงก็สิ้นสุดลง เนื่องจากกองกำลังจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามบุกยึดกัมพูชา แต่อย่างไรก็ตาม เขมรแดงยังคงดำเนินการเคลื่อนไหวต่อต้าน โดยมีฐานที่มั่นอยู่ชายแดนไทย-กัมพูชา จนกระทั่งในปี 1996 พล พต หัวหน้าขบวนการในขณะนั้นได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพ ยุติบทบาทของเขมรแดงลงอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี 1998 พล พต ถึงแก่กรรม ในปี 2006 สหประชาชาติ (UN) ให้การสนับสนุนก่อตั้ง องค์ชุมนุมชำระวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชา (ICCC) หรือเรียกทั่วไปว่า ศาลคดีเขมรแดง เพื่อชำระคดี ซึ่งสมาชิกฝ่ายบริหารอาวุโสที่สุดของกลุ่มเขมรแดงถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และกระทำความผิดอาญาอุกฉกรรจ์อย่างอื่นในช่วงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัมพูชา ในปีเดียวกัน ตา ม็อก อดีตผู้บัญชาการเขมรแดง ถึงแก่กรรมในระหว่างการควบคุมตัวเพื่อรอพิจารณาคดี เขียว สัมพัน อดีตประมุขแห่งรัฐของกัมพูชาในยุคเขมรแดง และนวน เจีย อดีตผู้นำหมายเลข 2 ของรัฐบาลเขมรแดง ถูกจับกุมในปี 2007 ศาลคดีเขมรแดงมีคำพิพากษาในปี 2014 ให้จำคุกตลอดชีวิต ในความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และศาลฎีกากัมพูชาในกรุงพนมเปญมีคำพิพากษายืนตามศาลคดีเขมรแดง โดยระบุว่า โทษจำคุกตลอดชีวิตเหมาะสมแล้วเมื่อพิจารณาจากความโหดร้ายทารุณของอาชญากรรมที่จำเลยทั้งสองคนสั่งอพยพประชาชนไปยังเขตชนบท และสังหารชาวกัมพูชาในเหตุการณ์ทุ่งสังหารเมื่อปี 1970 ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า พวกเขาไม่ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตประชาชนชาวกัมพูชาและยังก่ออาชญากรรมนั้นต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
มีคำถามว่า การพิจารณาคดีเขมรแดงทำกันหลังจากมีการตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) แล้ว (ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือเรียกโดยย่อว่า ธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) เป็นสนธิสัญญาซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นการจัดตั้งและจัดเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ธรรมนูญนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐต่าง ๆ ณ การประชุมทางการทูตที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 1998 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2002 ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เป็นศาลระหว่างประเทศซึ่งมีที่ทำการอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเขตอำนาจดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ 3 ฐาน คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, และอาชญากรรมสงคราม ก่อตั้งขึ้นโดยประสงค์จะให้เป็นส่วนเสริมของระบบยุติธรรมที่แต่ละประเทศมีอยู่ จึงมีเขตอำนาจเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น เช่น เมื่อศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแล้ว หรือเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือรัฐหนึ่งๆ เสนอคดีมาให้พิจารณา ศาลนี้เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 กรกฎาคม 2002 อันเป็นวันที่ธรรมนูญกรุงโรมเริ่มใช้บังคับ ธรรมนูญดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีซึ่งวางรากฐานและกำหนดการบริหารจัดการของศาล รัฐที่เข้าเป็นภาคีแห่งธรรมนูญจะนับเป็นรัฐสมาชิกของศาล ปัจจุบัน มีรัฐภาคี 123 รัฐ) ทำไมจึงไม่ใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) พิจารณา แต่กลับไปใช้องค์คณะพิเศษในศาลกัมพูชา ขออนุญาตอธิบายครับว่า การพิจารณาความผิดของบุคคลธรรมดาในศาลระหว่างประเทศ (ICC) นั้น ให้ดูที่ “ห้วงเวลาของการกระทำความผิด” พวกเขมรแดงกระทำความผิดก่อนการจัดตั้งของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จึงใช้บริการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ไม่ได้

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น