มองมุมม่าน ตอน ระบอบเนวิน
ก่อนจะเล่าเรื่องที่ชาวโลกไม่ควรจะรู้ เพราะเขาไม่ตั้งใจจะให้คุณรู้ ทุกอย่างคือภาพลวงตา ส่วนตัวแล้วไม่ได้เกลียดหรือไม่ชอบใครใดๆ ทั้งสิ้น จงอย่าเชื่อเหรียญด้านเดียว ทุกอย่างมันมีที่มา และมันก็ต้องมีที่ไป คนจัดฉากก็ส่วนหนึ่ง คนเล่นตามเกมส์ก็ส่วนหนึ่งง ผู้ชมก็ส่วนหนึ่ง และปรากฎการณ์ก็อีกส่วนหนึ่ง ไม่มีใครการันตีได้ว่า จะไม่เกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งสิ้น อยู่ที่เบื้องหลัง ใครเขียนบทให้เดิน
ประเทศพม่าได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ประกาศตัวเป็นรัฐเอกราชในนาม “สหภาพพม่า” หลังจากพม่าได้รับเอกราช มีความตึงเครียดทางการทหารและการลุกฮือของชนกลุ่มชาติพันธุ์ ในปี 1948(พ.ศ. 2491) พล.ท.เนวิน ขึ้นมามีอำนาจในกองทัพ ต่อมา ในวันที่ 31 มกราคม 1949(พ.ศ. 2492) พล.ท.เนวินได้เป็นผู้บัญชาการทหารและเข้าควบคุมทหารทั้งหมดแทน นายพลสมิธ ดุน ที่เป็นชาวกะเหรี่ยง ทำให้ พล.ท.เนวินได้จัดระเบียบกองทัพใหม่ ต่อมา อู นุได้ร้องขอให้ พล.ท.เนวินเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลหรือรักษาการณ์ เมื่อ 28 ธันวาคม 1958(พ.ศ. 2501) หลังจากที่สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์แตกออกเป็น 2 ส่วน และอู นุ เกือบไม่ได้รับการไว้วางใจจากรัฐสภา พล.ท.เนวินได้ฟื้นฟูกฎระเบียบใหม่ในระหว่างที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาล การเลือกตั้งใหม่ใน เดือนกุมภาพันธ์ 1960(พ.ศ. 2503) นั้น อู นุ เป็นฝ่ายชนะ และได้จัดตั้งรัฐบาลเมื่อ 4 เมษายน 1960(พ.ศ. 2503) ต่อมาเมื่อ 2 มีนาคม 1962(พ.ศ. 2505) พล.ท.เนวินขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง โดยการก่อรัฐประหาร ตัวเขาเองมีสถานะเป็นประมุขรัฐในฐานะประธานสภาปฏิวัติสหภาพ และเป็นนายกรัฐมนตรี
ในช่วง 26 ปีที่รัฐบาลของนายพลเนวินยึดอำนาจปกครองประเทศภายใต้ชื่อ พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า(BSPP) นำพาประเทศเข้าสู่ภาวะที่สภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมตกต่ำอย่างถึงที่สุด สิทธิเสรีภาพทางการเมืองถูกปิดกั้น เป็นความกดดันที่ทับถมลงบนจิตใจของประชาชน จนถึงขีดที่ประชาชนมิอาจทนได้อีกต่อไป วันที่ 8 สิงหาคม 1988 (พ.ศ. 2531) คือ การสิ้นสุดความอดทนของประชาชนภายใต้การปกครองรัฐบาลเผด็จการทหารระบอบเนวิน ก่อนหน้านั้น ประชาชนต่างตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวกับอำนาจปลายปืนของรัฐบาลเผด็จการทหารที่ทำการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนผู้ลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเริ่มต้นการปฏิวัติยึดอำนาจ
วันที่ 7 กรกฎาคม 1962 (พ.ศ. 2505) เกิดเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเผด็จการเนวิน สลายการชุมนุมประท้วงโดยสั่งกราดยิงกลุ่มนักศึกษา และระเบิดตึกกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และสั่งปิดมหาวิทยาลัย
28 มีนาคม 1964 (พ.ศ. 2507) รัฐบาลเผด็จการเนวิน ประกาศยุบพรรคการเมืองทุกพรรค ยกเว้น พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า หรือ BSPP ซึ่งเป็นพรรคของรัฐบาลทหาร ในเดือนพฤษภาคม 1964 (พ.ศ. 2507) รัฐบาลเผด็จการเนวิน ประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรใบละ 50 จั๊ตและ100 จั๊ต โดยไม่มีการคืนเงินให้แก่ประชาชน
11 ธันวาคม 1974 (พ.ศ. 2517) รัฐบาลเผด็จการเนวิน สั่งปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่กำลังช่วยกันสร้างสุสานชั่วคราว สำหรับเก็บศพของ อู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่บริเวณสนามหน้าที่ทำการสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ผู้ร่วมชุมนุมหลายคนถูกยิง ถูกแทงด้วยหอกปลายปืนและถูกจับกุม
3 พฤศจิกายน 1985 (พ.ศ. 2528) รัฐบาลพม่าโดยนายพลเนวิน ประกาศยกเลิกธนบัตร 100 จ๊าต สิ่งที่เป็นปัญหาของการยกเลิกธนบัตรคือ การไม่ยอมให้ประชาชนแลกธนบัตรคืน ทำให้เงินออมของประชาชนจำนวนมากสูญไปในพริบตา เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่จุดให้เกิดการประท้วงใหญ่ปีถัดมา
5 กันยายน 1987 (พ.ศ. 2530) ธนบัตรใบละ 25 จ๊าต 35 จ๊าต 75 จ๊าต ถูกยกเลิกโดยไม่มีการชดเชยใดๆ ซึ่งทำให้เงินตราของประเทศถึงร้อยละ 75 ที่หนุนเวียนในประเทศไร้ค่าในทันที สร้างความไม่พอใจต่อประชาชน และนักศึกษาออกมาชุมนุมประท้วงในกรุงย่างกุ้งและขยายต่อไปยังเมืองใหญ่ๆ ในพม่า
13 มีนาคม 1988 (พ.ศ. 2531) นักศึกษา 2 คน ถูกฆาตกรรม
16 มีนาคม 1988 (พ.ศ. 2531) กลุ่มนักศึกษาชุมนุมประท้วง และเผชิญหน้ากับกองตำรวจปราบจลาจลที่บริเวณสะพานขาว ริมทะเลสาบอินยา ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม ทำร้ายและยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วงบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก นักศึกษาหลายคนถูกจับกดน้ำตายในทะเลสาบอินยา
17 มีนาคม 1988 (พ.ศ. 2531) ภายใต้การบัญชาการของพล.อ.เส่ง วิน ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความมั่นคง กองกำลังทหารและตำรวจปราบจลาจลบุกมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง จับกุมนักศึกษาจำนวนหลายร้อยคน ในระหว่างการขนย้ายผู้ถูกจับกุม 41 คนเสียชีวิต เพราะขาดอากาศหายใจในรถตำรวจที่เป็นพาหนะในการขนย้าย
ในเดือนมีนาคมนี้ได้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทที่ร้านน้ำชาสถาบันเทคโนโลยีย่างกุ้ง ระหว่างนักศึกษาและชาวบ้าน เรื่องลุกลามเมื่อตำรวจปราบจลาจลได้ยิงนักศึกษาคนหนึ่งเสียชีวิต และจับกุมนักศึกษาเป็นจำนวนมาก ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับผิดชอบเรื่องนี้และการป้ายความผิดไปยังนักศึกษา เพื่อหาข้อยุติในเรื่องการเสียชีวิตของนักศึกษาได้ทำให้การประท้วงขยายตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ ถึงขั้นมีจดหมายเปิดผนึกจากอองยี ถึงนายพลเนวิน 2 ฉบับ และได้ส่งถึงคณาจารย์ ผู้พิพากษา นักกฎหมาย และทนายความหลายคน โดยเฉพาะฉบับสุดท้ายได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอย่างรุนแรงต่อการกระทำทารุณกรรมต่อนักศึกษาที่ถูกจับกุมไปคุมขังไว้ว่า มีการฆาตรกรรมนักศึกษาจำนวนมากในระหว่างการคุมขัง และการข่มขืนนักศึกษาหญิงจำนวนหลายคนจนตั้งครรภ์เมื่อปล่อยตัวออกมา เมื่อประชาชนหลายๆ คนได้รับรู้เนื้อหาของจดหมายก็เกิดความไม่พอใจและโกรธแค้น ความโกรธแค้นนี้ได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง จนมีการชุมนุมของนักศึกษา และมีข้อเรียกร้องให้มีการเปิดให้ตั้งสหภาพนักศึกษา ให้มีการสอบสวนต่อกรณีที่เกิดขึ้น ให้ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุม และลงโทษพล.อ.เส่ง วิน ผู้ที่ออกคำสั่งให้ปราบปรามนักศึกษา เมื่อไม่มีคำตอบใดๆ จากรัฐบาล กลุ่มนักศึกษาได้นัดชุมนุมกัน โดยครั้งนี้มีพระสงฆ์และประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก
15 มิถุนายน 1988 (พ.ศ. 2531) รัฐบาลส่งกองกำลังตำรวจและทหารเข้าสลายการชุมนุมในเขตมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ทำให้การประท้วงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลได้ใช้วิธีการให้รถบรรทุกวิ่งด้วยความเร็วเข้าไปในกลุ่มนักศึกษาที่ประท้วง และยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษา ทำให้นักศึกษาเสียชีวิตไปจำนวนมาก สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การออกมาร่วมกับนักศึกษา จนถึงขั้นประกาศไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาในเขตพื้นที่ตน และรุมประชาทัณฑ์เจ้าหน้าที่เสียชีวิตไปหลายคน ช่วงปลายเดือนมีนาคม อองซาน ซูจี ในวัย 43 ปี เดินทางกลับบ้านเกิดที่ย่างกุ้ง เพื่อมาเยี่ยม ดอว์ขิ่นจี มารดา ในขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และมีความวุ่นวายทางการเมือง
20 มิถุนายน 1988 (พ.ศ. 2531) รัฐบาลประกาศปิดมหาวิทยาลัยย่างกุ้งและสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งย่างกุ้ง เหตุการณ์ได้ลุกลามไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ จนต้องมีคำสั่งปิดการเรียนการสอนอย่างไม่มีกำหนด และประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 18.00 น.- 06.00 น. ห้ามมิให้มีการชุมนุมประท้วง การปราศรัย ซึ่งประกาศนี้ครอบคลุมพื้นที่กรุงย่างกุ้งทั้งหมด แต่การประกาศดังกล่าวไม่สามารถยับยั้งการชุมนุมของนักศึกษาได้ และได้ขยายไปสู่เมืองอื่นๆ ในพม่า
การประกาศนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เพราะการขนส่งสินค้าสดสู่ตลาดไม่สามารถทำได้ ทำให้ขาดสินค้าอุปโภคบริโภค และมีราคาสูงขึ้น หน่วยงานราชการต้องปิดทำการตั้งแต่เวลา 14.00 น. เพื่อให้ข้าราชการกลับบ้านได้ทัน ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ได้สร้างความหวั่นวิตกต่อประชาชน และส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลเอง ทำให้รัฐบาลต้องออกประกาศเปลี่ยนเวลาห้ามออกจากเคหสถานเป็นตั้งแต่เวลา 20.00 น. - 04.00 น. และพยายามผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มีการปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับกุม
8 กรกฎาคม 1988 (พ.ศ. 2531) รัฐบาลประกาศให้นักศึกษามาลงทะเบียนใหม่ โดยให้ผู้ปกครองมารับรองด้วย และมีการตรวจสอบเอกสารต่างๆ อย่างละเอียด
9 กรกฎาคม 1988 (พ.ศ. 2531) รัฐบาลประกาศยกเลิกการห้ามออกจากเคหสถาน และถอนทหารออกจากกรุงย่างกุ้ง แต่ก็เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิมขึ้นที่เมืองตองยี รัฐฉาน จนเกิดการปะทะกันขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไประงับเหตุอย่างเฉียบขาด ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นติดกันนานถึง 4 วัน มีผู้เสียชีวิต 3 คน
18 กรกฎาคม 1988 (พ.ศ. 2531) จากเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาล จนทำให้รัฐบาลต้องออกมายอมรับ และสอบสวนต่อกรณีเหตุการณ์เดือนมีนาคม และยอมรับเพิ่มเติมว่า มีนักศึกษาเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เพราะถูกยัดเข้าไปในรถกักขังอีก 41 คน โดยให้เหตุผลของการไม่ประกาศก่อนหน้านี้ว่า ไม่ต้องการให้สถานการณ์ลุกลามขึ้นไปอีก ซึ่งการประกาศดังกล่าว ส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกิจการภายในและกิจการศาสนาต้องลาออก และส่งผลกระทบสำคัญถึงขั้นนายพลเนวินประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า(BSPP) พร้อมๆ กับการลาออกของนายกรัฐมนตรี ซาน ยุ และเสนอให้ลงประชามติของประชาชนทั่วประเทศว่า จะยอมรับระบบการเมืองแบบพรรคเดียวหรือจะเปลี่ยนให้เป็นแบบหลายพรรค แต่การประชุมคองเกรสของพรรคปฏิเสธเรื่องการลงมตินี้ และได้ลงมติให้พล.อ.เส่ง วิน ขึ้นเป็นผู้นำพรรคแทนนายพลเนวิน
23 กรกฎาคม 1988 (พ.ศ. 2531) นายพลเนวิน ประกาศลาออก ในคำประกาศลาออก เขากล่าวเตือนไว้ว่า “ข้าพเจ้าต้องการให้ประชาชนทั้งชาติรู้ว่า ถ้าทหารยิงปืน นั่นคือ การยิงไปที่เป้าหมาย ไม่มีกระสุนลูกใด ยิงใส่อากาศเพื่อสร้างความหวาดกลัว”
27 กรกฎาคม 1988 (พ.ศ. 2531) พล.อ.เส่ง วิน ขึ้นรับตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า(BSPP) แทนนายพลเนวิน การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของพล.อ.เส่ง วิน ได้กลายเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งขึ้นอีก เนื่องจากพล.อ.เส่ง วิน ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และที่สำคัญพล.อ.เส่ง วิน เป็นคนออกคำสั่งให้ทหารยิงนักศึกษาที่ประท้วงรัฐบาลเนวินเมื่อปี 1962(พ.ศ. 2505) สั่งยิงตัวอาคารสหภาพนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง อันเป็นสถานที่ประวัติศาตร์สำคัญของขบวนการชาตินิยมพม่า เป็นศูนย์รวมผู้นำพม่าในการต่อสู้และเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และพล.อ.เส่ง วิน คนนี้คือ คนที่สั่งบุกมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในปี 1974(พ.ศ. 2517) ในระหว่างที่นักศึกษาและประชาชนชุมนุมกันเพื่อเตรียมจัดพิธีศพ อู ถั่น จากการที่สภาคองเกรสไม่ยอมรับในเรื่องการเมืองแบบหลายพรรค และตั้งพล.อ.เส่ง วิน เป็นผู้นำประเทศนี้เอง ทำให้เกิดการชุมนุมของประชาชนขึ้นในกรุงย่างกุ้ง และขยายตัวสู่เมืองต่างๆ ทั่วพม่า
15 สิงหาคม 1988 (พ.ศ. 2531) นางอองซาน ซูจี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องสิทธิในการขึ้นปกครองประเทศของตนจากความดีความชอบของบิดาผู้ล่วงลับ
26 สิงหาคม 1988 (พ.ศ. 2531) นางอองซาน ซูจี ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรก ต่อหน้าฝูงชนที่มาชุมนุมกันที่มหาเจดีย์ชเวดากองในย่างกุ้ง มีผู้เข้าร่วมรับฟังราว 500,000 คน ฝ่ายองค์การสิทธิมนุษยชนต่างๆ เชื่อว่า มีประชาชนอย่างน้อย 3,000 คน ถูกสังหารหลังจากทหารระดมยิงเข้าใส่ฝูงชนที่ชุมนุมประท้วง
3 สิงหาคม 1988 (พ.ศ. 2531) พล.อ.เส่ง วิน ประกาศกฎอัยการศึก เพื่อยุติการประท้วง แต่ไม่อาจหยุดยั้งความไม่พอใจของสาธารณชนได้ นักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ลุกฮือขึ้นจัดการชุมนุม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องขับไล่พล.อ.เส่ง วิน ให้พ้นจากตำแหน่ง ให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ให้ดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ยุติการกดขี่สิทธิเสรีชน และคืนเสรีภาพแก่ประชาชน สุดท้ายได้ประกาศวันดีเดย์ในการประท้วงทั่วประเทศ คือ วันที่ 8 สิงหาคม ซึ่งประชาชนต่างขานรับ และออกมาชุมนุมพร้อมกันในวันที่ 8 สิงหาคม พล.อ.เส่ง วิน ตอบโต้โดยสั่งกองกำลังทหารเข้าทำการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง
เหตุการณ์นี้สร้างความโกรธแค้นให้กับนักศึกษาและประชาชน นำไปสู่การชุมนุมประท้วงในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ และมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 (8-8-88) ประชาชนที่ออกมาชุมนุมกันอย่างสันติตลอดทั้งวัน ซึ่งประกอบไปด้วย นักศึกษา ประชาชน และพระสงฆ์ โดยมีทหารเฝ้าอยู่ตามท้องถนนในสภาพที่ข่มขวัญ
เสียงเพลงจากนักศึกษาประชาชนดังขึ้น "เรารักพวกท่าน ท่านเป็นพี่น้องเรา เราต้องการอิสรภาพ พวกท่านเป็นทหารของประชาชน โปรดมาอยู่ข้างเราเถิด เราเพียงต้องการ อิสรภาพเท่านั้น"
จนกลางดึกของคืนนั้น กองทหารติดอาวุธครบมือเริ่มปฏิบัติการณ์สังหารโหดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 4 วัน โดยระดมยิงเข้าไปในฝูงชน รัฐบาลออกมาให้ข่าวว่า มีผู้เสียชีวิตประมาณ 500 คน แต่เจ้าหน้าที่ทางการทูตและผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าวว่า ตัวเลขที่แท้จริงอยู่ราวๆ เกือบ 10,000 คน ทหารที่ยิงประชาชนต่างถูกผู้บัญชาการกล่อมให้เชื่อว่า นักศึกษาเป็น "กบฎคอมมิวนิสต์"
แสดงความคิดเห็น
0 ความคิดเห็น